สมุนไพรในสมัยอยุธยา

การพัฒนาสมุนไพรสมัยอยุธยา (1893-2325)    

    แม้ว่าตามพระราชพงศาวดานฉบับต่างๆ จะกล่าวถึงการแพทย์อยู่บ้างก็มีเพียงระบุว่าในปีนั้นๆ ได้เกิดโรคระบาดอะไรขึ้น และมิได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด
    อาศัยที่เรื่องราวในสมัยอยุธยานั้นมีชาวต่างประเทศซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาได้จดบันทึกไว้เป็นเอกสารที่จะค้นคว้าได้ และมีตำรายาบางเล่มยังหลงเหลืออยู่ เช่น
    ตำราโอสถพระนารายณ์ ซึ่งค้นพบในสมัยรัตนโกสินทร์ มีตำราพระโอรสหลายขนานที่ปรากฎชื่อหมอหลวงและวันคืนที่ตั้งพระโอสถนั้น ๆ จดไว้ชัดเจนระหว่าง พ.ศ. 2200-2204 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
    จึงทราบว่าเป็นตำราพระโอสถที่ใช้ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ได้รวบรวมเข้าคัมภีร์เมื่อเวลาล่วงไปถึงสมัยพระเพทราชา
    ลักษณะการแพทย์แผนโบราณในสมัยอยุธยาคือ การแพทย์ที่คนไทยได้ใช้มาตั้งแต่สมัย สุโขทัยเนื่องจากการแพทย์เป็นเรื่องของประเพณีวัฒนธรรม มีถ่ายทอดกันอยู่อย่างเสมอ ความรู้ในด้านการรักษาพยาบาล ยึดถือตามตำราที่บรรพบุรุษได้สะสมและถ่ายทอดกันมา และถือว่าคัมภีร์แพทย์เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์จึงไม่คิดดัดแปลงแก้ไข
    ดังนั้นวิธีการป้องกันและบำบัดโรคจึงคงเป็นไปในรูปแบบเดิม
    ถึงแม้ว่าจะมีชาวยุโรปหรือชาวฝรั่งเศสเคยนำวิชาการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในสมัยอยุธยา แต่ก็ไม่มีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการรักษาพยาบาลของไทยในสมัยนั้นแต่อย่างใด
    ทั้งนี้เพราะการแพทย์ แบบตะวันตกไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ เนื่องจากขัดกับธรรมเนียมของไทยแต่ก็พบตำราขี้ผึ้งรักษาแผลซึ่งหมอฝรั่งประกอบถวายในครั้งนั้น มีปรากฎอยู่ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ด้วย
    ขี้ผึ้งตามตำรานี้หมอฝรั่งพวกกุฎีจีนยังใช้รักษากันต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์