แผนการดำเนินงาน โครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย

เป้าหมายการดำเนินงาน

ระยะแรก การเตรียมระบบและสร้างเนื้อหา
ในระยะของการเตรียมการสำหรับการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทยซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการ สุขภาพแห่งชาติ นั้น เป้าหมายการดำเนินการในระยะ 3 ปีแรกกำหนดไว้ ดังนี้
1. เตรียมระบบงานให้พร้อมสำหรับการดำเนินงานหอจดหมายเหตุได้ทันทีที่อาคารสถานที่สำหรับการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและ พิพิธภัณฑ์ถาวรมี ความพร้อม
2. มีเอกสารสำคัญที่ถูกรวบรวมไว้อย่างเพียงพอและมีการจัดหมวดหมู่เป็นระบบไว้สำหรับจัดตั้งเป็นหอจดหมายเหตุหลักและหอจดหมายเหตุบุคคล
3. มีวัตถุและหลักฐานทางประวัติศาสตร์สุขภาพพร้อมจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์
4. พัฒนาวิธีการและเนื้อหาประวัติศาสตร์สุขภาพผ่านการสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar) มีสื่อและเอกสารด้านประวัติศาสตร์สุขภาพเพื่อการเผยแพร่
5. มีสื่อและเอกสารด้านประวัติศาสตร์สุขภาพเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการสุขภาพไทย

ระยะสอง การจัดสร้างอาคารและสถานที่
เนื่องจากหอจดหมายเหตุจะต้องมีการออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จดหมายเหตุ โดยห้องจัดเก็บและจัดแสดงต่าง ๆ จะต้องสามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิให้เหมาะสมได้ โดยสถานที่ควรอยู่ด้านหน้าหรือด้านข้างที่มีความสะดวกในการขนย้ายเอกสาร ง่ายต่อการเข้าไปใช้บริการ และสามารถเชื่อมต่อกับลานจัดกิจกรรมเพื่อความสะดวกในการจัดกิจกรรมและนิทรรศการ นอกจากนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งห้องต่าง ๆ บริเวณภายใน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งต้องสะท้อนความหมายและคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมและคุณธรรมที่มีรากเหง้าของประวัติศาสตร์สุขภาพไทย และมีลักษณะที่สอดคล้องกับการใช้สอยเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ ศึกษา วิจัย และจัดอบรม ประชุมวิชาการ
เนื้อที่สำหรับการจัดสร้างเป็นหอจดหมายเหตุกำหนดพื้นที่เบื้องต้นไว้ที่เนื้อที่ใช้สอยราว 300 ตรม. โดยการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยมีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้
• ห้องจดหมายเหตุหลัก และห้องจดหมายเหตุแบ่งเป็นเรื่องเฉพาะ  5  ส่วนย่อย 1 ห้อง
• ห้องพิพิธภัณฑ์ 1 ห้อง
• ห้องสมุดประวัติศาสตร์การแพทย์สุขภาพไทย  1 ห้อง
• ห้องทำงานของนักวิชาการ 1 ห้อง
• ห้องฝ่ายบริหารจัดการ 1 ห้อง
• ห้องการผลิตสื่อ ซ่อมสื่อ บำรุงเอกสารและพิมพ์งานคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง
• ห้องประชุมขนาดเล็ก 1 ห้อง

แผนการดำเนินงาน
ก. โครงการระยะแรก (3 ปี) เริ่มดำเนินการ ปีงบประมาณ 2551 -2553 ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอาคารถาวรที่จะใช้จัดแสดงนั้น ให้ดำเนินงานในส่วนที่สามารถทำได้ล่วงหน้าได้ โดยมีแผนการดำเนินงานโดยรวม ดังนี้
1) จัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้น 1  ชุด เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานกับบุคคลในวงการสุขภาพเจ้าของเอกสารสำคัญ ๆ และชี้แนะแหล่งเอกสารสำคัญที่ต้องเก็บรวบรวม
2) รวบรวม เอกสาร รูปภาพ วัสดุ และสื่อสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นมาในประวัติศาสตร์สุขภาพไทย
3) คัดเลือก จัดระบบเอกสาร รูปภาพต่าง ๆ ที่ง่ายต่อการค้นคว้า
4) จัดการสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness seminar) ทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทยเพื่อนำข้อมูลและสื่อที่ได้มาจัดเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุและใช้ประโยชน์ต่อไป
5) จัดพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิชาการที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสุขภาพไทย
6) จัดเตรียมพิพิธภัณฑ์ที่แสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย
7) จัดเตรียมหอจดหมายเหตุทั้งที่เป็นหอจดหมายเหตุหลัก และหอจดหมายเหตุเอกสารของบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการสุขภาพไทย โดยจัดระบบเอกสารรวมสามหมวดได้แก่
• เอกสารสำคัญและมีคุณค่าในด้านการพัฒนาสุขภาพไทย
• เอกสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องและมีคุณูปการต่อสุขภาพไทย
• เอกสารและสื่อทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพตั้งแต่การตั้ง สปรส. จนนำมาสู่การจัดตั้ง สช.
8) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการใช้ประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป
9) สร้างเว็บไซต์เพื่อการบริการและประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าถึงได้ทางอินเตอร์เน็ต

ข. โครงการระยะที่ 2 (2 ปี) เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2554-2555 เป็นช่วงที่อาคารถาวรดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว เริ่มดำเนินการย้ายเอกสารและวัตถุมาจัดแสดงและริเริ่มให้บริการค้นคว้าเอกสารเบื้องต้นในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
1) ดำเนินการออกแบบ ตกแต่ง จัดภูมิสถาปัตย์ให้เหมาะกับการใช้งาน และจัดแบ่งเนื้อที่ใช้สอยห้องเก็บเอกสาร ห้องรวบรวมและคัดแยก ห้องบริการค้นคว้า และห้องทำงานของบุคลากร การจัดแสดงนิทรรศการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
2) ดำเนินการขนย้ายเอกสาร วัตถุและสิ่งของต่าง ๆ ที่เก็บรวบรวมไว้ ไปเริ่มการจัดเก็บ จัดแสดงและสร้างระบบการให้บริการค้นคว้าเอกสารในห้องแสดงถาวร
3) การจัดสร้างชุดนิทรรศการถาวรในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย รวมทั้งจัดสร้างนิทรรศการแบบเคลื่อนที่ในประเด็นสำคัญสำหรับจัดแสดงในวาระสำคัญต่างๆ
4) จัดระบบการเข้าใช้บริการค้นคว้าเอกสารและการเข้าชมนิทรรศการที่จัดแสดง รวมทั้งเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อให้สาธารณชนได้รู้จักและเข้ามาเรียนรู้อย่างกว้างขวาง