แผนปฏิบัติการประจำปี

สัมมนาผู้รู้เห็น 18 กพ. 52

การสัมมนาผู้รู้เห็น "ประวัติศาสตร์สาธารณสุขชุมชน : Witness seminar"
วันที่  18 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 13.00 – 16.30 น.
ณ  ห้อง Meeting Room 3
อาคารอิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นต์เตอร์ เมืองทองธานี

วัตถุประสงค์
1.    เพื่อรวบรวมประสบการณ์จากคำบอกเล่าและความทรงจำของผู้บุกเบิกงานหมออนามัยและงานสาธารณสุข
2.    เพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดจิตสำนึกในประวัติศาสตร์ จากการเรียนรู้เรื่องราวในอดีต
3.    เพื่อนนำเสนอรูปแบบวิธีการศึกษา Witness seminar ให้คนร่วมสมัยได้รู้จักและนำรูปแบบไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาประวัติศาสตร์สุขภาพท้องถิ่นต่อไป

ขอบเขตและเนื้อหาการนำเสนอ
    งานมหกรรมสุขภาพชุมชนและบริการปฐมภูมิไม่ได้เพิ่งมีขึ้นในวันนี้ แต่เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์การที่มีผู้คนรุ่นก่อนหน้าเราทุ่มเทกายเทใจ ถากถางเส้นทางอันรกร้างเส้นนี้มาก่อน ด้วยจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ชุมชน และด้วยความเคารพต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ บนเส้นทางสู่สุขภาพดีถ้วนหน้าของไทยจึงมีบุคคลที่ได้เดินหน้าฝ่าฟันปัญหาต่างๆ มาก่อนเรา และทำให้งานสุขภาพชุมชนเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
    การสัมมนาผู้รู้เห็นประวัติศาสตร์เป็นวิธีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการบอกเล่าจากความทรงจำในช่วงชีวิตการทำงานของบุคคลที่ร่วมรู้เห็น และร่วมเหตุการณ์ เพื่อให้เราทุกคนตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมารุ่นต่อรุ่น จนถึงเราในปัจจุบัน

ผู้ร่วมสนทนาเล่าเรื่อง
1. ศ.นพ.ไพจิตร ปวะบุตร  (อายุ 75 ปี)    อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บุกเบิกงานสาธารณสุขมูลฐาน
2. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ (อายุ 62 ปี)    ผู้บุกเบิกงานสุขภาพชุมชนและครู
หมออนามัย
3. นางนิยม มุทาวัน (อายุ 85 ปี)            จากจังหวัดอำนาจเจริญ
4. นางผ่องใส ภาณุรัตน์ (อายุ 74 ปี)        จากจังหวัดอุบลราชธานี
5. นายสวัสดิ์ จิตติมณี (อายุ 61 ปี)        จากจังหวัดนครราชสีมา
6. นายประภาส จเรประพาฬ (อายุ 59 ปี)    จากจังหวัดนครศรีธรรมราช
7. นายชัยพร จันทร์หอม (อายุ 54 ปี)        จากจังหวัดตรัง

ดำเนินรายการโดย
นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ (อายุ 56 ปี)            จาก สสจ. จังหวัดพิจิตร

แนวคิดและรูปแบบการนำเสนอ

    ความทรงจำ ถือเป็นความรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลและแฝงไว้ซึ่งคุณค่า การเรียนรู้จากประสบการณ์และประวัติศาสตร์จะทำให้เราได้ทบทวนและได้ “รู้ตัว” ว่าที่เรามามีสถานะความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ ในอดีต การสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness seminar) เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์จากความทรงจำของบุคคลที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ ซึ่งมาร่วมกันเล่าเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น และทำการเก็บบันทึกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษา และประการสำคัญจะจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ระบบสุขภาพไทย  การสัมมนานี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ระบบสุขภาพไทย  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกระทรวงสาธารณสุข