โครงการ

โครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย

1. หลักการและเหตุผล
สุขภาพไทยมีพัฒนาการควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมไทยตั้งแต่อดีต ในระบบดั้งเดิมของสังคมสยามสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ผสมผสานวัฒนธรรมแบบพุทธ พราหมณ์ ผี และประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายใต้ระบบศักดินา ความเจ็บป่วยในราชสำนักถูกจัดการด้วยหมอหลวง ส่วนไพร่หรือสามัญชนอาศัยยากลางบ้าน หรือหมอเชลยศักดิ์ผสมผสานกับการเยียวยาตามศรัทธาความเชื่อท้องถิ่น จวบจนการเข้ามาของการแพทย์แผนปัจจุบันที่ทำให้เกิดระบบบริการสุขภาพสมัยใหม่ขึ้น อาจจะกล่าวได้ว่าการที่การแพทย์ตะวันตกได้รับการเผยแพร่เข้าสู่สังคมไทย ควบคู่ไปกับการที่จักรวรรดินิยมตะวันตกได้กดดันและคุกคามต่อรัฐไทยในยุคนั้น ได้ก่อให้เกิดการขยายบทบาท และอำนาจของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการจัดหาบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ผลของการพัฒนาดังกล่าวนั้น ได้ทำให้การแพทย์กลายเป็นปริมณฑลของความรู้ตะวันตก และที่สำคัญ ได้ทำให้ระบบวิธีคิดทางการแพทย์ของ สังคมไทยค่อย ๆ เปลี่ยนจากเดิมมาเป็นทัศนะการมองสุขภาพตามแผนของการแพทย์แบบชีวภาพ และทฤษฎีเชิงโรคมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับการสถาปนาขึ้นจากเดิมที่เป็นกรมพยาบาลเมื่อปี พ.ศ.2431 โดยมีภารกิจสำคัญคือ การทำนุบำรุงให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค รวมทั้งให้การเยียวยา ดูแลรักษาความเจ็บป่วยแก่ประชาชน
ตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีของกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย  ทั้งด้านการก่อร่างสร้างตัวของระบบการแพทย์การสาธารณสุขไทย ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งโรงศิริราชพยาบาลในปี พ.ศ. 2431 โรงเรียนแพทยากร ในปี พ.ศ. 2432  โรงพยาบาลคนเสียจริต  ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปี พ.ศ.2432  โรงพยาบาลหญิงหาเงิน  ซึ่งปัจจุบันคือ โรงพยาบาลกลาง ในปี พ.ศ. 2440  หรือการก่อตั้งโรงทดลองความสุขของราษฎร (Public Health Laboratory) ในปี พ.ศ.2444  รวมทั้งการริเริ่มระบบรายงานโรคในปี พ.ศ. 2452    ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นระบบทะเบียนประชากรในปี  พ.ศ. 2460  ตลอดจนการแพร่ขยายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขออกสู่หัวเมือง หรือการเผชิญวิกฤตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์และสาธารณสุขในระหว่างสงครามหรือการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ เช่น การเกิดอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ทำให้ทางการต้องตั้งโรงพยาบาลเอกเทศขึ้นถึง 48 แห่งตามท้องถิ่นต่าง ๆ ก่อนที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงดำริให้สร้างโรงพยาบาลถาวรขึ้น  หรือการระบาดของโรค Anthrax หรือโรคไข้หน่วยเม็ดที่มีขึ้นครั้งแรกที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรในปี พ.ศ.2446  และการพบกาฬโรคระบาดที่ตึกแดง ริมฝั่งเจ้าพระยาในปีต่อมา

เหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าเป็นประวัติศาสตร์และพัฒนาการของระบบสุขภาพของประเทศที่ทรงคุณค่าแก่การเรียนรู้ ดังที่ปราชญ์ในทุกสังคมล้วนกล่าวยืนยันถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่า การที่สังคมจะก้าวไปข้างหน้าได้นั้น จำเป็นต้องทบทวน ตรึกตรอง เรียนรู้จากอดีต เหมือนดังลูกศรที่จะพุ่งออกจากคันธนูไปได้ไกลเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการรั้งลูกศรและน้าวคันธนูให้ถอยหลังกลับไปได้มากเพียงใด หรือดังวาทะของวินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้วได้ยึดถือเป็นคติประจำใจว่า “The longer you can look backward, the further you can look forward.”
การขาดความใส่ใจและขาดการปลูกฝังคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ขาดความสนใจที่จะเก็บรวบรวมเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นมาในประวัติศาสตร์ของสุขภาพไทย  ในด้านการแพทย์การสาธารณสุขนั้น เอกสารสำคัญจำนวนมากสูญหายหรือถูกทำลายทิ้งไปโดยไม่รู้คุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่กระทรวงสาธารณสุขย้ายจากที่ตั้งเดิมบริเวณวังเทวะเวสม์ กรุงเทพมหานคร สู่สถานที่ตั้งในปัจจุบัน เอกสารสำคัญเกิดการสูญหายหรือถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก เอกสารดังกล่าวล้วนแต่มีความสำคัญและการใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย  ซึ่งบางชิ้นอาจจะไม่มีสำเนาใด ๆ เหลืออยู่เลย  นอกจากนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบบริหารจัดการมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพและเป็นระเบียบเรียบร้อย การรณรงค์ความสะอาดเช่น กิจกรรม 5 ส. ก็อาจเป็นผลให้เอกสารที่อาจไม่มีประโยชน์ในแง่การดำเนินงาน แต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถูกกำจัดทิ้งไปโดยง่ายอีกด้วย
แม้ว่าการเรียนรู้ ความเข้าใจ และสำนึกทางประวัติศาสตร์จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ในช่วงที่ผ่านมาความสนใจที่จะศึกษาและเรียนรู้จากอดีตยังมีอยู่อย่างจำกัด ความรู้ทางประวัติศาสตร์สุขภาพถูกจำกัดไว้แต่ในด้านการแพทย์การสาธารณสุข ทั้งยังมีลักษณะหยุดนิ่ง โดยมีเนื้อหาที่นักการแพทย์การสาธารณสุขท่องจำเป็นประวัติศาสตร์สำเร็จรูปว่าด้วยการแพทย์และการสาธารณสุขไทยเริ่มต้นเมื่อหมอ มิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่การแพทย์ตะวันตกในสยาม และมาสิ้นสุดลงที่การก่อตั้งโรงศิริราชพยาบาล  ความสนใจในมิติทางประวัติศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ เช่น พัฒนาการของวัฒนธรรมสุขภาพไทย ประวัติศาสตร์การแพทย์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ทางสังคมของโรคและความเจ็บป่วย ประวัติศาสตร์การเมืองของสาธารณสุขไทย ประวัติศาสตร์สุขภาพจากมุมมองของชาวบ้าน หรือการบันทึกชีวประวัติของบุคคลสำคัญในวงการสาธารณสุข ล้วนแต่ยังมีการดำเนินการน้อย  ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับสุขภาพไทย เช่น การปฏิรูประบบสุขภาพ การกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบราชการ และนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ก็จำเป็นต้องมีการศึกษา จดบันทึก และตีความในเชิงประวัติศาสตร์ในอนาคตทั้งสิ้น
การเกิดขึ้นของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติขึ้นนับเป็นโอกาสดีในการผลักดันให้ เกิดความตระหนักในมิติทางประวัติศาสตร์ของสุขภาพไทย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพจึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทยขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บเอกสารที่มีคุณค่าอันเป็นแหล่งความรู้และสำนึกทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย และเป็นแหล่งที่ให้การสนับสนุนการศึกษา วิจัย ค้นคว้าเพื่อสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์และมิติทางสังคมของระบบสุขภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข ตลอดจนเผยแพร่ให้ความรู้ เพื่อให้สังคมการแพทย์การสาธารณสุข สถาบันการศึกษาและการวิจัย ตลอดจนสาธารณชนได้ศึกษาเรียนรู้และเกิดความเข้าใจในรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของสุขภาพไทย

2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและทำนุบำรุงรักษา เอกสาร สื่อ ตลอดจนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการของสุขภาพไทยมิให้เสื่อมสลายหรือสูญหายไป
2.2 เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสุขภาพไทย ตลอดจนพัฒนาการด้านสังคม การเมืองที่เกี่ยวข้องเพื่อปลูกฝังและสร้างความรู้ ความเข้าใจในมิติทางสังคม ประวัติศาสตร์และสุขภาพ 
2.3 เพื่อดำเนินการวิจัยและสนับสนุนการศึกษาค้นคว้า เพื่อการเรียนรู้จากอดีต ตลอดจนเพื่อสร้างความร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ความเข้าใจในมิติทางสังคมของสุขภาพและการแพทย์
2.4 เพื่อสร้างสรรค์และปลูกฝังสำนึกและความภาคภูมิใจต่อความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ อันจะเป็นการบ่มเพาะความรักและความภูมิใจในการทำงานเพื่อสร้างสุขภาพไทยให้เข้มแข็ง

3. กรอบแนวคิดและหลักการดำเนินงาน
1. การจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เป็นงานที่ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอกสาร สื่อ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกเก็บหรือซุกซ่อนอยู่กับหน่วยงานหรือบุคคลต่าง ๆ  ความร่วมมือที่จะนำข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานเหล่านั้นมาเก็บรวบรวมไว้เพื่อการทำนุบำรุงรักษา และเผยแพร่ จึงต้องเป็นนโยบายระดับสูงขององค์กรที่จะสนับสนุนงานด้านนี้อย่างเต็มที่ การดำเนินการจำเป็นต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในระบบสุขภาพขึ้นมาทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานทั้งบุคคลเจ้าของเอกสารและแหล่งที่มีเอกสารสำคัญที่ต้องเก็บรวบรวม
2. กระบวนการอนุรักษ์และทำนุบำรุงเอกสารต้องการเทคโนโลยีเฉพาะ ซึ่งหากจะดำเนินการให้ครบวงจรจะต้องการลงทุนสูง เช่น การจัดทำห้องอบเอกสาร งานซ่อมเอกสารโบราณ งานไมโครฟิล์ม รวมทั้งงานบริการและจัดแสดง ในระยะแรกยังไม่ควรลงทุนในด้านเหล่านี้ แต่ควรใช้การจัดจ้างให้สถาบันหรือหอจดหมายเหตุที่มีศักยภาพอยู่ก่อนดำเนินการให้
3. การจัดหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญเช่น นักจดหมายเหตุ นักประวัติศาสตร์ หรือนักอนุรักษ์เอกสาร แม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่บุคลากรเหล่านี้หากรับเข้าเป็นข้าราชการก็มักจะมีข้อจำกัดด้านการเติบโตในหน้าที่การงาน การดำเนินการจึงควรใช้การจัดจ้างเป็นกรณี โดยที่มีบุคลากรประจำเท่าที่จำเป็น  การจัดตั้งงบประมาณจึงควรจัดเป็นงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนเพื่อให้สามารถดำเนินการดังกล่าวได้
4. กิจการด้านหอจดหมายเหตุจะต้องมีงานด้านวิชาการควบคู่ไปด้วยมิเช่นนั้นจะกลายเป็นเพียงโรงเก็บเอกสาร กิจกรรมทางวิชาการ เช่น การวิจัย การจัดประชุมวิชาการด้านประวัติศาสตร์ การจัดพิมพ์และเผยแพร่ความรู้ และการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากหอจดหมายเหตุเป็นสิ่งจำเป็น โดยที่กิจกรรมวิชาการเหล่านี้ควรมีขอบเขตที่กว้างเพื่อให้ความสนใจด้านประวัติศาสตร์มีการเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ เช่น ด้านปรัชญา ด้านนโยบาย ด้านการส่งเสริมภูมิปัญญาไทย เป็นต้น
5. นอกเหนือจากหอจดหมายเหตุหลักที่จัดระบบเอกสารให้เป็นหมวดหมู่แล้ว การจัดให้มีหอจดหมายเหตุย่อยเฉพาะด้าน เช่น ด้านการแพร่ระบาดและการควบคุมป้องกันโรค ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ หรือหอจดหมายเหตุเฉพาะของบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุข รวมทั้งการจัดให้มีห้องนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดเหมาะสมในประเด็นที่มีความสำคัญ และผลัดเปลี่ยนไปตามวาระก็จะเป็นการส่งเสริมสำนึกและการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ได้ทางหนึ่ง
6. การจัดสร้างหอจดหมายเหตุควรพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งเหมาะสม เพราะจะเป็นภาพลักษณ์ขององค์กร การจัดตั้งหอจดหมายเหตุในบริเวณที่พลุกพล่านอึกทึกหรือมีกิจกรรมเอิกเกริก อาจทำให้บรรยากาศและการใช้ประโยชน์ไม่เหมาะสม ในขณะเดียวกันการจัดตั้งหอจดหมายเหตุในที่หลบมุมมิดชิดเกินไป ก็จะเป็นเสมือนการมีประวัติศาสตร์ที่ต้องหลบ ๆ ซ่อนๆ  การตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งจึงควรพิจารณาด้านภูมิสถาปัตย์ให้แสดงออกถึงความงามอันเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย ความสะดวกในการเข้าไปใช้ประโยชน์และการจัดกิจกรรม เป็นต้น
7. ภายในอาคารและห้องจัดแสดงหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ จำเป็นต้องมีความพิถีพิถันในการออกแบบและการจัดแสดง โดยการผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างรูปแบบทางทัศนศิลป์ที่เน้นความเป็นไทยกับหน้าที่ใช้สอย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและออกแบบอย่างดี เชิญผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วม
8. ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอาคารและตกแต่งห้องจัดแสดงนั้น งานด้านอื่น ๆ เช่น การรวบรวมเอกสาร การจัดหมวดหมู่ หรือกิจกรรมทางวิชาการอย่างการสัมมนาผู้รู้เห็น (witness seminar) ควรดำเนินการไปล่วงหน้า โดยจัดให้มีสถานที่สำหรับหน่วยจัดการและสำหรับการติดตาม รวบรวมเอกสาร และเก็บรักษาเอกสารขึ้นเป็นการชั่วคราว

4. ขอบเขตและหน้าที่หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
4.1 การรวบรวมและจัดเก็บเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพครอบคลุมเอกสารต่าง ๆ  เช่น
• เอกสารที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านสุขภาพทั้งหมด
• เอกสารที่มีคุณค่าด้านนโยบายและการบริหารงาน
• เอกสารสำคัญทางกฎหมาย
• เอกสารที่มีคุณค่าทางด้านการวิจัย
• เอกสารเกี่ยวกับกิจกรรมหรือโครงการที่สำคัญ
• เอกสารส่วนบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ
• เอกสารที่จัดพิมพ์โดยกระทรวงสาธารณสุข โปสเตอร์ ใบปลิว เอกสารรณรงค์ เป็นต้น
• เอกสารที่จัดพิมพ์โดยหน่วยงานภายนอกแต่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข
• เอกสารต้นฉบับเกี่ยวกับตำรายา ตำรานวด ตำราดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน
4.2 การรวบรวมจัดเก็บวัสดุ สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  เช่น
• รูปภาพ ภาพเขียน แผนผัง แผนภูมิ แบบจำลอง
• ฟิล์มเนกาตีฟ ฟิล์มภาพยนตร์ สไลด์ วิดีโอ วีซีดี ดีวีดี แถบบันทึกเสียง และโสตทัศน์ วัสดุ อื่นๆ
• เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เหรียญที่ระลึก โล่ห์ ตลอดจนวัสดุที่มีความหมายเชิงประวัติศาสตร์อื่นๆ
• เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ของบุคลากรสุขภาพ
• เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน
• สิ่งของเครื่องใช้และวัตถุที่ใช้ของการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และข้าวของที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อดูแลสุขภาพ

4.3 การจัดรวบรวม การจัดเก็บเอกสารและสิ่งของทางประวัติศาสตร์ ดำเนินการโดยจัดหมวดหมู่เป็นจดหมายเหตุส่วนราชการ จดหมายเหตุส่วนบุคคล และเอกสารที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์การสาธารณสุขไทย โดยจัดระบบเอกสารและอนุรักษ์ตามหลักวิชาการจดหมายเหตุ รวมทั้งจัดการดูแลและจัดแสดงในลักษณะของนิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์ตามความเหมาะสม
4.4 ดำเนินการวิจัยและสนับสนุนการพัฒนางานวิชาการและการวิจัยด้านสังคม ประวัติศาสตร์ และการแพทย์การสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการสั่งสมองค์ความรู้ และการนำความรู้ ความเข้าใจด้านสังคมและประวัติศาสตร์ไปใช้ประโยชน์
4.5 บริการเผยแพร่เอกสารประวัติศาสตร์และเอกสารวิชาการต่าง ๆ โดยการบริการสามารถจัดทำในรูปของการช่วยค้นคว้า การจัดพิมพ์ผลงานทางวิชาการและข้อมูลจดหมายเหตุ การจัดทำจุลสารและการจัดทำ Website เพื่อให้ผู้ใช้ประโยชน์สามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสารได้ง่าย
4.6 ดำเนินการจัดแสดงเอกสารและวัตถุสำคัญเป็นนิทรรศการในรูปแบบถาวรและแบบเคลื่อนที่            เพื่อใช้ในการเผยแพร่ต่อสาธารณะในกาลเทศะที่เหมาะสม


5. เป้าหมายการดำเนินงาน
    ระยะแรก การเตรียมระบบและสร้างเนื้อหา
    ในระยะของการเตรียมการสำหรับการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทยซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ แห่งชาตินั้น เป้าหมายการดำเนินการในระยะ 3ปีแรกกำหนดไว้ ดังนี้
    1. เตรียมระบบงานให้พร้อมสำหรับการดำเนินงานหอจดหมายเหตุได้ทันทีที่อาคารสถานที่สำหรับการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ถาวรมี ความพร้อม
    2. มีเอกสารสำคัญที่ถูกรวบรวมไว้อย่างเพียงพอและมีการจัดหมวดหมู่เป็นระบบไว้สำหรับจัดตั้งเป็นหอจดหมายเหตุหลักและหอจดหมายเหตุบุคคล
    3. มีวัตถุและหลักฐานทางประวัติศาสตร์สุขภาพพร้อมจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์
4. พัฒนาวิธีการและเนื้อหาประวัติศาสตร์สุขภาพผ่านการสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar) มีสื่อและเอกสารด้านประวัติศาสตร์สุขภาพเพื่อการเผยแพร่
5. มีสื่อและเอกสารด้านประวัติศาสตร์สุขภาพเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการสุขภาพไทย

    ระยะสอง การจัดสร้างอาคารและสถานที่
เนื่องจากหอจดหมายเหตุจะต้องมีการออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จดหมายเหตุ โดยห้องจัดเก็บและจัดแสดงต่าง ๆ จะต้องสามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิให้เหมาะสมได้ โดยสถานที่ควรอยู่ด้านหน้าหรือด้านข้างที่มีความสะดวกในการขนย้ายเอกสาร ง่ายต่อการเข้าไปใช้บริการ และสามารถเชื่อมต่อกับลานจัดกิจกรรมเพื่อความสะดวกในการจัดกิจกรรมและนิทรรศการ นอกจากนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งห้องต่าง ๆ บริเวณภายใน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งต้องสะท้อนความหมายและคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมและคุณธรรมที่มีรากเหง้าของประวัติศาสตร์สุขภาพไทย และมีลักษณะที่สอดคล้องกับการใช้สอยเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ ศึกษา วิจัย และจัดอบรม ประชุมวิชาการ
เนื้อที่สำหรับการจัดสร้างเป็นหอจดหมายเหตุกำหนดพื้นที่เบื้องต้นไว้ที่เนื้อที่ใช้สอยราว 300 ตรม. โดยการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยมีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้
• ห้องจดหมายเหตุหลัก และห้องจดหมายเหตุแบ่งเป็นเรื่องเฉพาะ  5  ส่วนย่อย 1 ห้อง
• ห้องพิพิธภัณฑ์ 1 ห้อง
• ห้องสมุดประวัติศาสตร์การแพทย์สุขภาพไทย  1 ห้อง
• ห้องทำงานของนักวิชาการ 1 ห้อง
• ห้องฝ่ายบริหารจัดการ 1 ห้อง
• ห้องการผลิตสื่อ ซ่อมสื่อ บำรุงเอกสารและพิมพ์งานคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง
• ห้องประชุมขนาดเล็ก 1 ห้อง

6. แผนการดำเนินงาน
ก. โครงการระยะแรก (3 ปี) เริ่มดำเนินการ ปีงบประมาณ 2551 -2553 ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอาคารถาวรที่จะใช้จัดแสดงนั้น ให้ดำเนินงานในส่วนที่สามารถทำได้ล่วงหน้า
ข. โครงการระยะที่ 2 (2 ปี) เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2554-2555 เป็นช่วงที่อาคารถาวรดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว เริ่มดำเนินการย้ายเอกสารและวัตถุมาจัดแสดงและริเริ่มให้บริการค้นคว้าเอกสารเบื้องต้นในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์

7 ผลลัพธ์ที่นำส่งเมื่อสิ้นสุดโครงการ
    ก. โครงการระยะแรก (พ.ศ. 2551-2553)
หอจดหมายเหตุ เอกสารที่ต้องดำเนินการให้ได้มาภายในเวลา 3 ปี
    1. เอกสารสำคัญและมีคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และการ
              สาธารณสุขไทย
    2.เอกสารส่วนบุคคลที่มีคุณูปการต่อสุขภาพไทยสำหรับจัดแสดง
พิพิธภัณฑ์ รวบรวมหลักฐานและวัตถุสำคัญและมีคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ
              การแพทย์ และการสาธารณสุขไทย
การสัมมนาผู้รู้เห็น นำเสนอผลลัพธ์การดำเนินการ  6 ครั้ง
    1) สื่อต้นฉบับบันทึกการสัมมนาผู้รู้เห็นรวม 6 ครั้ง
    2) รายงานผลการจัดกระบวนการสัมมนาผู้รู้เห็นตลอดเวลา 3 ปีที่เน้นให้เห็นถึงวิธีการจัดการความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความทรงจำของบุคคลให้สามารถถ่ายทอดมาเป็นความทรงจำของสังคม ที่สาธารณชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ข. โครงการระยะที่ 2 (พ.ศ. 2554-2555)
หอจดหมายเหตุ เอกสารที่ต้องดำเนินการให้ได้มาภายในเวลา 2 ปี
1. เอกสารสำคัญและมีคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และการสาธารณสุขไทย
2. เอกสารส่วนบุคคลที่มีคุณูปการต่อสุขภาพไทย

พิพิธภัณฑ์ รวบรวมหลักฐานและวัตถุสำคัญและมีคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และการสาธารณสุขไทย

การสัมมนาผู้รู้เห็น นำเสนอผลลัพธ์การดำเนินการ   4 ครั้ง
1) สื่อต้นฉบับบันทึกการสัมมนาผู้รู้เห็นรวม 4 ครั้ง
2) รายงานผลการจัดกระบวนการสัมมนาผู้รู้เห็นตลอดเวลา 2 ปีที่เน้นให้เห็นถึงวิธีการจัดการความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความทรงจำของบุคคลให้สามารถถ่ายทอดมาเป็นความทรงจำของสังคมที่ สาธารณชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

 การดำเนินการขนย้ายเอกสารและวัตถุมาจัดเก็บและแสดงตามหลักวิชาการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ถาวรที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมทั้งจัดวางระบบให้บริการด้านต่างๆ
การจัดทำนิทรรศการแสดงถาวรและเคลื่อนที่ ดำเนินการจัดทำนิทรรศการถาวรที่แสดงให้
เห็นระบบสุขภาพของคนไทยในช่วงเวลาต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ และจัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่

8.  ผู้รับผิดชอบโครงการ
สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ  สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

9.  ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1) ทำให้เกิดสำนึกและบรรยากาศของการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย
2) ทำให้มีแหล่งรวบรวมข้อมูลเพื่อการค้นคว้า แสวงหาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และการเรียนรู้จากอดีตอันจะก่อประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขไทยที่ยั่งยืน
3) ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้า และพัฒนาองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย
4) ทำให้ได้หลักฐานเพิ่มจากเอกสารโดยเป็นแหล่งเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่าของบุคคลผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ที่สามารถใช้เป็นหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยในอนาคต
5) ทำให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการจัดสัมมนาผู้รู้เห็นทางประวัติศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ในสังคมไทยได้