การสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar) ประวัติศาสตร์สุขภาพ ไทยครั้งที่ 1

การสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness Seminar) ประวัติศาสตร์สุขภาพ ไทยครั้งที่ 1

วิธีวิทยาในการศึกษา ประวัติศาสตร์และความทรงจำ ร่วมสมัย (ความตอนหนึ่งจากคำนำ หนังสือสาธารณสุขชุมชน ประวัติศาสตร์และความทรงจำ, ทวีศักดิ์ เผือกสม บรรณาธิการ, นนทบุรี หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ระบบสุขภาพไทย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ 2552)

สัมมนาผู้รู้เห็น (
Witness Seminar) คือ วิธีการสร้างและจารึกข้อมูลของเหตุการณ์หรือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงขณะเวลาที่ผู้คนซึ่งมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ยังคงมีชีวิตอยู่  อันอาจเรียกให้หรูหราได้ว่าเป็นความทรงจำที่ยังมีชีวิต (living memory)  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history)   โดยให้ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งได้มาพบปะกันบนโต๊ะสัมมนา เพื่ออภิปราย ถกเถียง และแลกเปลี่ยนข้อมูลความทรงจำของตนเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ อันได้กำหนดหัวข้อหรือประเด็นเนื้อหาไว้   สัมมนาผู้รู้เห็นจึงเป็นเสมือนการสัมภาษณ์กลุ่มคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ๆ  โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเป็นผู้ดำเนินการควบคุมประเด็นการสนทนา  พร้อมทั้งให้มีการบันทึกเสียงและภาพเอาไว้และให้มีการถอดเสียงบันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้อย่างเป็นระบบ โดยมีการทำคำอธิบายเพิ่มเติมและใส่รายการอ้างอิง สำหรับประโยชน์ในการค้นคว้าศึกษาของนักวิจัยต่อไป
[1]

            การสัมมนาผู้รู้เห็นได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบโดยสถาบันประวัติศาสตร์อังกฤษร่วมสมัย (Institute of Contemporary British History – ICBH) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) และต่อมาในปัจจุบันได้พัฒนาเป็นศูนย์ประวัติศาสตร์อังกฤษร่วมสมัย (Centre for Contemporary British History) ซึ่งเน้นการรวบรวมบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อังกฤษร่วมสมัยในรูปแบบของประวัติศาสตร์บอกเล่า โดยเชื้อเชิญให้คนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องมาร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความทรงจำ เพื่อผลิตหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ยังอยู่ในห้วงความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้อง   การสัมมนาผู้รู้เห็นของสถาบันประวัติศาสตร์อังกฤษร่วมสมัยจึงได้รับการยอมรับนับถือในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ในปัจจุบันว่าเป็นรูปแบบใหม่ๆ ของประวัติศาสตร์บอกเล่าอันมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวง  ทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีประโยชน์ยิ่งกว่าการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว  เนื่องจากช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหล่านั้นขึ้นในระหว่างการอภิปราย  กระทั่งทำให้วิธีการสัมมนาผู้รู้เห็นนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในสถาบันอื่นๆ ทั้งในอังกฤษและประเทศอื่นๆ

           ทางด้านประวัติศาสตร์การแพทย์นั้น ใน ค.ศ.1990 (พ.ศ. 2533)  กองทุนเวลคัม (Wellcome Trust) ได้ก่อตั้งกลุ่มศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ขึ้นโดยให้อยู่ในสังกัดหน่วยวิชาการของสถาบันเวลคัมเพื่อประวัติศาสตร์การแพทย์ (Wellcome Institute for the History of Medicine)[2] เพื่อนำเอาบรรดาแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์การแพทย์ร่วมสมัยมาทำงานศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของการแพทย์ในศตวรรษที่เพิ่งผ่านพ้นไป และได้เลือกเอารูปแบบของการสัมมนาผู้รู้เห็นซึ่งได้ริเริ่มขึ้นโดยสถาบันประวัติศาสตร์อังกฤษร่วมสมัยเป็นแม่แบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักวิชาการต่างๆ หลากหลายสาขาเหล่านี้  โดยเล็งเห็นถึงคุณูปการที่จะบังเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกัน  และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์เอกสารในรูปแบบเอกสารจดหมายเหตุ (archival sources) สำหรับใช้ค้นคว้าวิจัยต่อไปข้างหน้า  ในการประชุมกันแต่ละครั้งของกองทุนเวลคัมเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์นั้นจะมีการบันทึกเสียงไว้ทั้งหมด ก่อนจะถอดเสียงทำเป็นเอกสารบันทึกการสัมมนา  จากนั้นจึงส่งเอกสารที่ถอดคำพูดนี้ส่งไปให้ผู้ร่วมสัมมนาได้อ่าน เพื่อให้ตรวจสอบในส่วนที่ตัวเองอภิปรายแลกเปลี่ยนและแก้ไขให้ถูกต้อง  พร้อมกับเพิ่มเติมข้อมูลและการอ้างอิงให้สมบูรณ์ให้พร้อมดำเนินการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่สำหรับการค้นคว้าวิจัยต่อไปได้[3]          

              สำหรับการสัมมนาผู้รู้เห็นครั้งที่ 1 เรื่อง ประวัติศาสตร์และความทรงจำ: งานสาธารณสุขชุมชนจากยุคบุกเบิกถึงสิ้นแผนพัฒนาการสาธารณสุข ฉบับที่ 5” นี้  สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551 ณ ห้องประชุม 801 อาคาร 8 ชั้น 8 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข   โดยได้เชิญนายแพทย์รุ่นอาวุโสและผู้มีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุขยุคแรก ดังรายชื่อและประวัติย่อในนามานุกรมท้ายเอกสาร ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการกำหนดนโยบายและการออกไปทำงานบุกเบิกงานสาธารณสุขชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ของสังคมไทย 

 

                     

           การสัมมนาแบ่งเป็นสองช่วงด้วยกัน  โดยในช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 09.15 - 12.30 น. เป็นการสัมมนาในหัวข้อ ประวัติศาสตร์และความทรงจำ: งานสาธารณสุขชุมชน จากยุคบุกเบิกถึงสิ้นแผนพัฒนาการสาธารณสุขฉบับที่ 5ดำเนินการอภิปรายโดย นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และในช่วงบ่าย เวลา 14.45-16.00 น. ได้แบ่งการสัมมนาออกเป็นห้องย่อยสองห้องด้วยกัน  โดยในห้องย่อยที่ 1 ได้สัมมนาในประเด็นเรื่อง พัฒนาการระบบบริการสุขภาพในชนบทดำเนินการอภิปรายโดย นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และในห้องย่อยที่ 2 ได้เน้นในประเด็นเรื่อง งานพัฒนาสุขภาพชุมชนและงานสาธารณสุขมูลฐานดำเนินการอภิปรายโดย ศ.ดร. ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ 

 

   

                             
                             
                             

           ผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วยผู้รู้เห็นประวัติศาสตร์สาธารณสุขชุมชน ผู้สังเกตุการณ์ และผู้จัดการสัมมนา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เสม พริ้มพวงแก้ว, ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ประเวศ วะสี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ อารี วัลยะเสวี, นายแพทย์ ไพโรจน์ นิงสานนท์, นายแพทย์ บรรลุ  ศิริพานิช, ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ ไพจิตร ปวะบุตร, นายแพทย์ มงคล ณ สงขลา, นายแพทย์ อุทัย สุดสุข, นายแพทย์ กวี ไชยศิริ, นายแพทย์ ชูชัย ศุภวงศ์, นายแพทย์ สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, นายแพทย์ สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์, รองศาสตราจารย์ ดร.เบญจา ยอดดำเนิน-แอ็ตติกจ์, ดร.สุมล ปวิตรานนท์, นายระเด่น หัสดี, ดร.เมธี จันท์จารุภรณ์[4]



[1] ดูคำอธิบายเหล่านี้ได้ในเว็บไซต์ของศูนย์ประวัติศาสตร์อังกฤษร่วมสมัย www.ccbh.ac.uk/witnessseminars.php

[2] ต่อมาใน ค.ศ. 1999 ได้เปลี่ยนเป็นศูนย์กองทุนเวลคัมเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์ (Wellcome Trust Centre for the History of Medicine) ณ University College London – UCL

[3] กรุณาดูคำนำใน Public Health in the 1980s and 1990s: Decline and Rise? Witness Seminar on 12 October 2004, Wellcome Trust Centre for the History of Medicine at UCL, London, edited by V. Berridge, D.A. Christie and E.M. Tansey, Volume 26, 2006.

[4] ผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ พญ.กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, นางสาววิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์, นายแพทย์อุกฤษฎ์ มิลินทรางกูร, นางสาวสุนีย์ สุขสว่าง, นายธันวา วงศ์เสงี่ยม, นายนภนาท อนุพงศ์พัฒน์, นางสาวนิลุบล คุณวัฒน์, นางสาวกฤษณ์กมล บุณยธาดา, นางสาวสุกัญญา ภัทะรวิมล, นางประภาพร โพธิ์ทอง, นางสุวรรณา มานะโรจนานนท์, นายสมบูรณ์  ทรัพย์พุ่ม, นางณัชชา  ธรรมเสน่ห์, นายศิริพงษ์ เอี่ยมเจริญ, นางสาวธัญญา ทวีวงศ์, นายชาติชาย มุกสง, นางสาวกิ่งกมล คุรฑชื่นนางรำไพ  แก้ววิเชียร, นางจรวยพร จึงเสถียรทรัพย์  โดยมีผู้จัด คือ นางวีรวรรณ  เสถียรกาล, นายประคอง แก้วนัย, นางสาวภาวิณี สวัสดิมานนท์, นางสาวธนวรรณ สาระรัมย์, นางสาวธวัลกร อินอุตร, นางสาวคณิศร เต็งรัง, และมีบรรณาธิการเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์

 

ผู้สนใจหนังสือนี้ โปรดติดต่อที่ nham.thailand@gmail.com