สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

 

  การแพทย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อาศัยความรู้ที่สืบทอดจากกรุงศรีอยุธยา ตำราและคัมภีร์แพทย์ที่ใช้ส่วนหนึ่งตกทอดมาจากแพทย์รุ่นก่อน และอีกส่วนหนึ่งเป็นการรวบรวมคัดลอกขึ้นมาใหม่ โดยการเรียกประชุมแพทย์และผู้มีความรู้ มีการนำตำรายาและคัมภีร์แพทย์ที่มีอยู่ตามวัด บ้านเรือนราษฎร และที่เป็นสมบัติของแพทย์มาตรวจทาน แก้ไขเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยเลือกเอาแต่ตำรายาที่เห็นว่าดีและเชื่อถือได้มาคัดลอกเก็บไว้ใช้เป็นตำราในกรมหมอหลวง

  ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ไทยในราชสำนัก ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักที่อุปถัมภ์ค้ำจุนการแพทย์แผนไทยก่อนยุคสมัยใหม่ ได้สูญหายไปเมื่อกรุงศรีอยุธยาต้องล่มสลายลง ความรู้และตำราต่างๆ ด้านการแพทย์ที่ถูกรวบรวมไว้ก็สูญหายไปด้วย มีหลักฐานที่บ่งบอกถึงระบบการแพทย์ในราชสำนักและตำแหน่งแพทย์ตามทำเนียบศักดินาปรากฏอยู่ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน พ.ศ. ๑๙๙๘  ซึ่งแสดงตำแหน่งทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในราชสำนัก และอาจมีนัยยะไปถึงแนวคิดในการจัดแบ่งหมวดหมู่ความรู้ทางการแพทย์ของไทยของราชสำนักด้วย โดยโครงสร้างที่มีมาแต่เดิมตั้งแต่อยุธยา ได้แก่ เจ้ากรมแพทยาหน้า ตำแหน่งแพทย์ใหญ่ และตัวองค์กรประกอบด้วย กรมแพทยาหน้า กรมแพทยาหลัง โรงพระโอสถ กรมหมอยาซ้าย กรมหมอยาขวา โรงพระโอสถ กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตาขวา กรมหมอยาตาซ้าย กรมหมอวรรณโรค  

 

 

        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ( พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒ )

                ตั้งตำรายาแลฤๅษีดัดตน

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดให้ ตั้งตำรายาแลฤๅษีดัดตนไว้เป็นทานภายในศาลาราย แม้ตำรายาที่จารึกไว้จะเกิดการชำรุดจนเสียหาย แต่จากหลักฐานที่บันทึกไว้ระบุว่ามีการจารึกวิชาการแพทย์ต่างๆ ไว้ที่ผนังศาลา มีข้อความว่า

            “ผนังใหญ่ศาลาหลังเหนือเขียนแผนไข้ทรพิษ คอสองทางเฉลียงเขียนแผนนวด และจารึกยาปรอทแก้  วรรณโรค ผนังใหญ่ศาลาหลังใต้เขียนแผนแม่ซื้อประจำกุมาร คอสองเขียนคนแปลกเพสละบองราหู (คือเด็ก เป็นซางอันสำแดงอาการต่างๆ) และจารึกตำรายากับจารึกเรื่องประจำภาพต่างๆ ติดไว้ตามผนังแลเสาทั่วไป เฉลียงหลังศาลารายทุกหลังก่อเป็นแท่นหินแปลกๆ กัน (มีภาพเป็นกุฎีและเขาไม้อยู่หลังแท่น) ตั้งรูปฤๅษีดัดตนท่าต่างๆ อันหล่อด้วยสังกะสีดีบุกประสมหลังละสี่ละห้าตามส่วนห้องมากและน้อย จารึกโคลงสุภาพบอกท่าดัด และบอกชะนิดลมติดไว้ตามข้างผนัง และมีโคลงบอกด้านนามผู้สร้างศาลา พร้อมทั้งช่างวาดเขียนทั้งฝ่ายวัดฝ่ายบ้านติดไว้ด้วย

 

 

         พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗ )       

                การรวบรวมตำรายาโรงพระโอสถ   

 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงให้มีการรวบรวมตำราการแพทย์ขึ้น โดยมีพระพงศ์ อมรินทร์ (หรือ พระพงศ์นรินทร์)  เป็นหัวหน้า โดยให้ออกไปเสาะหาตำรายาลักษณะโรคทั้งปวงมา และให้ ขุนนาง ราษฎร  ตลอดจนพระราชาคณะทุกอาราม ได้รวบรวมส่งมาด้วย  ผู้ใดมีตำรายาดีๆ ที่บรรพบุรุษได้เก็บไว้ให้นำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายและให้กรมหมอหลวงคัดเลือกจดเป็น ตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถนอกจากนี้ ยังทรงให้ตรา กฎหมายพนักงานโอสถเสวยซึ่งกำหนดมาตรการความปลอดภัยที่เจ้าพนักงานพระโอสถเสวย ผู้แต่ง และผู้กำกับจะต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้พระโอสถของพระมหากษัตริย์ปนเปื้อนสิ่งอื่นใด

            ตรากฎหมายพนักงานโอสถเสวย 

            พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงให้ตรา กฎหมายพนักงานโอสถเสวยเพื่อป้องกันมิ   ให้พระโอสถของพระมหากษัตริย์ปนเปื้อนสิ่งอื่นใด ปรากฏข้อความดังนี้ คือ    

            “... และเจ้าพนักงานพระโอสถเสวย ถ้าเป็นพระโอสถน้ำใส่โถขวดแก้วๆ ใส่ถุงปิดตรา จงมั่นคง ถ้าเจ้าพนักงานมิเชิญไว้ดังนี้ โทษเฆี่ยน อนึ่ง ถ้าจะประกอบพระโอสถอย่างประมาท ต้องให้บริสุทธิ์ ถ้ามิ   บริสุทธิ์ ผู้ประกอบโทษเฆี่ยนตัดมือ  

            ถ้าจะประกอบพระโอสถนั้น อย่าให้ผู้อื่นนอกกว่าผู้กำกับ  เข้าไปนั่งใกล้เคียงเป็นอันขาด  ถ้าผู้อื่น  จะเข้าไปใกล้เคียงไซร้  ผู้เข้าไปใกล้เคียงแลเจ้าพนักงานโทษเฆี่ยน ริบราชบาท  

            ถ้าประกอบพระโอสถให้เศร้าหมองมีมณฑิลอุปัทะวไซร้ โทษถึงตาย อนึ่งผู้ใดเข้าไปใกล้เคียง ทำให้พระโอสถเป็นมณฑิลอุปัทะวได้ไซร้  ผู้ทำแลเจ้าพนักงานโทษถึงตาย

            ถ้าเจ้าพนักงานแสร้งแกล้งประกอบให้เป็นมณฑิลอุปัทะวโดยไซร้ โทษตายทั้งโคตร อนึ่งพระโอสถประกอบแล้วให้ผู้แต่แลผู้กำกับ เทียบทาบดู ให้สนิทจงดี  ถ้ามิสนิทผิดขอใดไซร้ โทษผู้แต่งผู้กำกับเทียบ ทานนั้นดุจกันทุกข้อ…”  

            การระบาดของอหิวาตกโรค

            ในช่วงกลางรัชสมัยเกิดการระบาดของอหิวาตกโรค เรียกว่า ไข้ป่วงใหญ่ นาน ๑๕ วัน ทั่วประเทศ   คนตายไปประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน พงศาวดารรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ระบุว่า ไข้ป่วงระบาดมาทางทะเล มาจากเกาะหมาก (ปีนัง) มาระบาดในเมืองสมุทรปราการ มีคนตายจำนวนมาก แล้วจึงระบาดมาถึงกรุงเทพฯ มีคนตายจำนวนมากจนมีศพที่วัดสระเกศ วัดบางลำพู วัดบพิตรพิมุข วัดประทุมคงคา และวัดอื่นๆ มากเหมือนกับกองฟืน ยังมีศพที่ตายลอยมาตามน้ำอีกจำนวนมาก อาหารก็กินได้แต่ปลาแห้งและพริกกับเกลือ น้ำในแม่น้ำลำคลองก็กินไม่ได้

วิธีแก้ปัญหาในเวลานั้นคือ การทำพิธีอาฏานิยสูตรด้วยการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน และอัญเชิญพระแก้วมรกต พระบรมธาตุ พระราชาคณะต่างๆ ออกโปรยทรายปลุกเสกทั่วทั้งพระนคร ให้ขุนนางและประชาชนถือศีลบำเพ็ญทาน ปล่อยสัตว์ แต่ผลของการทำพิธีกลับไม่ได้ทำให้โรคหาย คนที่เข้ากระบวนแห่และหามพระพุทธรูป พระภิกษุที่เดินร่วมขบวนก็ล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาบ้านแล้วตายก็มีมาก ในการระบาดครั้งต่อไปจึงยกเลิกการทำพระราชพิธีนี้เสีย พงศาวดารฯ ยังระบุว่า โรคนี้ชอบที่โสโครกโสมมคนตายมาก คนที่บ้านเรือนสะอาดก็ตายน้อย

การจารึกตำรายาที่วัดราชโอรส 

            รัชสมัยของพระองค์ยังมีการจัดทำจารึกตำรายาที่วัดราชโอรส ในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ โดยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงปฏิสังขรณ์วัดจอมทองถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับพระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า วัดราชโอรสาราม โดยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงจารึกตำรายาไทยไว้ ๑๐๘ ขนาน บนศิลา ๕๕ แผ่น ทั้งบนกำแพงพระวิหารพุทธไสยาสน์ และที่ศาลารายไว้สำหรับให้สาธารณชนได้ศึกษาหาความรู้     

 

 

        พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว( พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๙๔)

          โครงสร้างของหมอในโรงพระโอสถ    

           ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ การจัดองค์กรในกรมหมอตามที่มีหลักฐานบันทึกไว้ มีลักษณะเกือบจะลอกแบบอย่างของกรม หมอโรงพระโอสถในสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ กรมหมอในโรงพระโอสถ  เป็นต้นสังกัดของ หมอหลวง”  ทั้งหมด  และอยู่ใต้กำกับของพระบรมวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เช่นในสมัย พ.ศ. ๒๔๐๘ มีกรมหมื่นวงศาธิราช ทรงกำกับกรมหมอ หัวหน้าหมอหลวงทั้งปวง คือ พระยาแพทยพงษาวิสุทธิ (ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำแหน่งนี้เรียกว่า จางวาง แพทยาโรงพระโอสถ ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น ออกยาแพทยาพงษาวิ สุทธาธิบดีอภัยพิริยนรากรมพาหุ)  บรรดาหมอในกรมหมอโรงพระโอสถ  แบ่งเป็น ๒  ฝ่าย คือ หมอโรงใน”  ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดเยียวยา พระบรมวงศานุวงศ์ในเขตพระราชฐานชั้นใน และ หมอโรงนอกมีหน้าที่รับพระบรมราชโองการ ไปตรวจเยี่ยมและบำบัดรักษาข้าราชการผู้เจ็บป่วย แม้ว่าหมอโรงใน  และ   หมอโรงนอกจะแยกจากกัน แต่ก็อยู่ภายใต้บังคับของเจ้าหมอกรมโรงพระโอสถ คือพระยาแพทยพงษาวิสุทธิ  ผู้บังคับบัญชารองลงไป ได้แก่  เจ้ากรมหมอยาขวา (หลวงราชนิทานและหลวงราชพรหมา) ปลัดกรม ยาซ้าย (พระสิทธิสาร) ปลัดกรมหมอยาขวา ซึ่งหมอหลวงสังกัดกรมหมอยาขวา และหมอยาซ้าย จะ ผลัดเปลี่ยนเข้าประจำราชการ  ผลัดละ  ๔ วัน  ๔ คืน โดยเข้ามาประจำราชการอยู่ในพำนักซึ่งเป็นโรงพระโอสถด้วย ซึ่งก็คือคลังยานั่นเอง กล่าวได้ว่าในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากกรุงศรีอยุธยา คือ มีกรมโรงพระโอสถเพียงกรมเดียว รวมผู้ชำนาญการไว้ทุกประการ คือ หมอยา หมอนวด หมอกุมาร หมอตา หมอผี  หมอทรพิศม์ หมอพยุงครรภ์ ซึ่งต่างไปจากราชการในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา 

กระบองแดง: มีหลักฐานสมัยต้นรัตนโกสินทร์บอกว่า หมอหลวงสามารถเดินทางไปเก็บสมุนไพรตามบ้านของราษฎร หรือที่ของใครก็ได้ ทั่วราชอาณาจักร โดยมี กระบองแดงและย่ามพระราชทานเป็นสัญลักษณ์ 

การทดลองทำพันธุ์หนองฝีป้องกันไข้ทรพิษ (พ.ศ. ๒๓๘๔)

            หมอบรัดเลย์เห็นว่า การปลูกทรพิษยังเป็นอันตรายอยู่ จึงไม่เลิกล้มการทดลองเพื่อทำการปลูกฝีให้สำเร็จ ในปีพ.ศ.๒๓๘๔ ได้ทำการทดลองปลูกฝีกับเด็กจำนวน ๗๕ คนในบ้านพระยาพระคลัง โดยใช้สะเก็ดพันธุ์หนองฝีโคซึ่งนำมาจากอเมริกา ปรากฏว่าปลูกขึ้นเพียง ๓-๔ ราย หมอบรัดเลย์ได้เอาพันธุ์หนองให้ผู้อื่นทดลองปลูก แต่ไม่ค่อยมีคนอยากทดลอง เมื่อทำการได้ประมาณ ๓ เดือน พันธุ์หนองฝีจึงหมดลง โดยมีคนที่ปลูกขึ้นทั้งหมดในครั้งนี้ราว ๑๐๐ คน

           ถึงจะทำการปลูกฝีสำเร็จ แต่ยังมีปัญหาเรื่องพันธุ์หนองฝีที่ต้องนำเข้าจากอเมริกาซึ่งใช้เวลาเดินทางนาน หมอบรัดเลย์จึงทำการทดลองผลิตสะเก็ดพันธุ์หนองฝีด้วยตนเอง ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๘๕ โดยการฉีดหนองจากผู้ป่วยไข้ทรพิษเข้าไปในวัวหลายตัว และยังได้รับพระราชทานวัวจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีเดียวกัน บุตรีของหมอบรัดเลย์เสียชีวิตลงจากไข้ทรพิษเมื่ออายุได้ ๗ เดือน หมอบรัดเลย์จึงตั้งคลินิกรับปลูกฝีขึ้นเป็นการส่วนตัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ คิดค่าปลูกฝีคนละ ๑ บาท หากฝีขึ้นดี จะคืนเงินให้ครึ่งหนึ่ง โดยเงินที่ได้จะนำไปซื้อหนองฝีจากอเมริกามาปลูกใหม่ แต่ระหว่างรอ ได้ใช้หนองจากคนที่ปลูกฝีขึ้นดีแล้วมาปลูกต่อกันไป

การปลูกฝีได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของพวกมิชชันนารี คือการเดินทางออกไปปลูกฝีแม้ในหมู่บ้านตามชนบทต่างๆ เป็นเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อรัฐบาลไทยได้ตั้งสถานผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นที่สี่กั๊กพระยาศรี และออกกฎหมายบังคับให้ทุกคนปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษใน พ.ศ. ๒๔๕๖ การปลูกฝีโดยพวกมิชชันนารีจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลง

การทำสูติกรรมแบบตะวันตก ๑  (พ.ศ. ๒๓๘๕)

            หมอบรัดเลย์เห็นว่าการผดุงครรภ์แบบดั้งเดิมที่ทำกันในสังคมไทย ผู้หญิงต้องเสี่ยงอันตรายจากการทำคลอดอยู่มาก เหตุหนึ่งมาจากการต้องอยู่ไฟหลังคลอดเป็นเวลานาน อีกทั้งทารกที่เกิดมามักมีโรคแทรกซ้อน อัตราการตายของแม่และเด็กสูง หมอบรัดเลย์พยายามผลักดันให้สังคมไทยหันมาใช้วิธีการสูติกรรมแบบใหม่ตามอย่างตะวันตก โดยพยายามผลักดันผ่านหมอหลวง เนื่องจากเห็นว่าหากหมอหลวงเชื่อถือแล้วน่าจะทำให้คนทั่วไปยอมรับได้

            เขาใช้วิธีแปลและเรียบเรียงตำราการทำสูติกรรมตามแบบตะวันตกที่ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาออกเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่า คัมภีร์ครรภ์ทรักษา เมื่อเรียบเรียงเสร็จแล้ว เขาได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ ๑ ฉบับ และได้มีการพิมพ์แจกจ่ายให้กับหมอหลวง ๒๐๐ ฉบับ (กล่าวกันว่า ก่อนหน้านี้ หมอบรัดเลย์ได้เรียบเรียงตำราปลูกทรพิษขึ้นทูลเกล้าถวายแล้ว ๑ ฉบับ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการพิมพ์เผยแพร่) จึงอาจกล่าวได้ว่า คัมภีร์ครรภ์ทรักษาเป็นตำราแพทย์แผนปัจจุบันเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นเป็นภาษาไทย    

  

 

         พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑)

                การทำสูติกรรมแบบตะวันตก ๒  (พ.ศ. ๒๓๙๕)

            หลังจากหมอบรัดเลย์ได้ตีพิมพ์ คัมภีร์ครรภ์ทรักษา ออกมาแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการรักษาดูแลตามวิธีการดังกล่าว จนกระทั่งในวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๕ ทางราชสำนักได้เชิญให้หมอบรัดเลย์เข้าเยี่ยมพระมเหสีพระองค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพิ่งมีพระประสูติการและดูว่าอาการจะย่ำแย่ลง เมื่อหมอบรัดเลย์ได้เข้าไปทำดูแล จึงให้เลิกการผทมเพลิง (การอยู่ไฟ) รวมทั้งได้ถวายยาแบบตะวันตก จนอาการของพระนางได้ทุเลาลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาขอบใจ และพระราชทานเงินให้ ๒๐๐ บาท แก่หมอบรัดเลย์ และพระราชทานรางวัลให้แก่หมอเฮาส์ที่มาช่วย  ในเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความมั่นใจในการสูติกรรมแบบตะวันตกไว้ว่า

            “ข้าพเจ้ามีความไว้วางใจในการรักษาพยาบาลในการคลอดบุตรของยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่มีความเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะทำให้สนมผู้นี้มีความเชื่อมั่น ก่อนที่ความตายจะคุกคามเธอ เพราะญาติพี่น้องจำนวนมากของเธอจูงใจให้เธอปฏิบัติตามประเพณี การรักษาพยาบาลของท่านครั้งนี้ นับเป็นการอัศจรรย์ที่สุดในพระบรมมหาราชวังนี้

อหิวาตกโรคระบาด ครั้งที่ ๓ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  (พ.ศ. ๒๔๐๓)

            เกิดอหิวาตกโรคระบาดทั่วโลก ครั้งที่ ๓ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในประเทศไทยเกิดอหิวาตกโรคขึ้นที่เมืองตากก่อน แล้วจึงลุกลามมาถึงกรุงเทพฯ แต่การระบาดครั้งนี้ไม่รุนแรงนัก

            ตำแหน่งกรมหมอฝรั่งในวังหน้า

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีกรมหมอฝรั่ง ขึ้นทำเนียบข้าราชการในวังหน้า ดังมีตำแหน่งตามนี้

            ขุนระงับพิศม์ เจ้ากรมขวา ศักดินา ๔๐๐

            ขุนสนิทแวทยา เจ้ากรมซ้าย ศักดินา ๔๐๐

            หมื่นเมทรแวทยา ปลัดกรมขวาม ศักดินา ๓๐๐

            หมื่นชำนาญเมทรีแวทยา ปลัดกรมซ้าย ศักดินา ๓๐๐

            แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในวิทยาการทางการแพทย์ตะวันตกของเจ้านายชั้นสูงในสมัยนั้น 

 

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑

หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข