เอกสารการสอบทุนฟลูไบรท ของ นพ. นัดดา ศรียาภัย

เอกสารการสอบทุนฟลูไบรท ของ นพ. นัดดา ศรียาภัย

 

นพ.นัดดา ศรียาภัย

การศึกษาต่อและความเป้าหมายเรื่องป้องกันโรคระบาด จากเอกสารจดหมายเหตุ


          นพ.นัดดา ศรียาภัย ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ และมีคุณูปการในด้านการทำงานควบคุมและป้องกันวัณโรค ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ตลอดช่วงเวลาการทำงานตั้งแต่ปี 2490 จนถึงปี 2557 จนได้รับการยกย่องเป็น "ปรมาจารย์ด้านการควบคุมวัณโรคของประเทศไทย" ท่านเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ เป็นแพทย์เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมและดูแลรักษาโรควัณโรคมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย และได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการวิชาการด้านวัณโรคในระดับประเทศและนานาชาติ จึงถือว่าเป็นบุคลากรคนสำคัญของกรมควบคุมโรคติดต่อ และการสาธารณสุขไทย

หลังจากที่ทางหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ ได้รับมอบเอกสารจาก นพ.นัดดา ศรียาภัย ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ สื่อโสตทัศน์ต่างๆ เช่น แท่นพิมพ์ เลนส์ สไลด์ ภาพยนตร์กว่า 200 ม้วน สมุดบันทึก ตำราเรียนแพทย์ ใบลานแพทย์แผนไทย กว่า 30 กล่อง ทางหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดระบบเอกสารจดหมายเหตุ คัดแยก จัดหมวดหมู่ ลงรหัสเอกสาร เพื่อจัดเก็บและให้บริการจดหมายเหตุส่วนบุคคลของ นพ.นัดดา ศรียาภัย ระหว่างที่จัดเอกสารทางเจ้าหน้าที่จดหมายเหตุได้ค้นพบเอกสารจดหมายเหตุที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสอบทุนฟลูไบรทของ นพ.นัดดา ศรียาภัย ซึ่งมีจำนวนเอกสารถึง 222 หน้า ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เก็บรวมรวบเอกสารเบื้องต้นไว้ในหัวข้อ มาสอบทุนฟูลไบรทที่ตึกอักษรศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2495 แล้วจัดทำทะเบียนรหัสเอกสารจดหมายเหตุ (18) สบ 18.1.1/4 ซึ่งรายละเอียดของเอกสารในแฟ้มสะท้อนให้เห็นว่า นพ.นัดดา ศรียาภัย ได้รับทุนแลกเปลี่ยนการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา Fulbright Grantee ในปี พ.ศ. 2495 ( Certificate in Chest Diseases, National Jewish Hospital, Denver, Colorado, USA ) โดยทุน Fulbright เป็นระบบการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 ทุนการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับนักศึกษาต่างชาติ

โครงการทุนการศึกษา Fulbright เริ่มต้นขึ้นในปี 1946 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความรู้เพื่อที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ โครงการทุนการศึกษาฟุลไบรท์ในประเทศไทยเริ่มในปี 1950 โดยผู้ผ่านการคัดเลือกประมาณ 12 คนต่อปีจะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านค่าเล่าเรียนค่าใช้จ่ายรายเดือนตั๋วเครื่องบินไปกลับสหรัฐอเมริกา และประกันสุขภาพ นอกจากนี้ยังได้อาศัยอยู่ในสถานที่ที่สะดวกสบายระหว่างการเรียนรู้และการวิจัยอีกด้วย

  

การศึกษาต่อและความเป้าหมายเรื่องป้องกันโรคระบาด จากเอกสารจดหมายเหตุ 

 

หล่อหลอมการเป็นนักเดินทางและนักวาดรูป

          คุณหมอนัดดาเป็นบุตรชายคนโตของพี่น้องสี่คน บิดาเป็นเจ้าหน้าที่อัยการประจำจังหวัดเชียงใหม่ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เมื่อมารดาให้กำเนิดน้องชายคนแรก ทั้งครอบครัวจึงได้โยกย้ายไปประจำอยู่ที่จังหวัดสงขลาทางใต้ ช่วงเวลาหลายปีทางตอนใต้สุดของประเทศนี้เองที่มีส่วนหล่อหลอมการเป็นนายแพทย์ที่ชื่นชอบการเดินทางไปยังดินแดนสุดปลายหรือชายขอบในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการชอบวาดภาพ ถ่ายภาพ จดบันทึก ซึ่งต่อมาได้ทำให้การแสวงหาความรู้ของคุณหมอนัดดาก้าวไปไกลยิ่งกว่าในด้านสาธารณสุขเท่านั้น

สองเส้นทางเลือก ก่อนเดินสู่อาชีพแพทย์

          ในวัยเยาว์ คุณหมอนัดดาก็เหมือนเด็กผู้ชายในวัยคึกคะนองที่มีความฝันอยากเป็นทหาร เพราะดูองอาจ โดยเฉพาะการเป็นทหารเรือ เพราะมีความชื่นชอบในเรือรบและยุทโธปกรณ์ทางทหารมาตั้งแต่เด็ก แต่คุณพ่อได้ห้ามปรามไว้ แล้วแนะนำให้ศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์ คำแนะนำในตอนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ชีวิตการเรียนแพทย์ของคุณหมอนัดดาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องสอบแข่งขันสูง และใช้เวลาศึกษาต่อนาน

ชีวิตในช่วงมัธยมปลายสองปีสุดท้าย ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะคุณหมอนัดดาได้พบว่าตนเองมีความยากลำบากในการเรียนคณิตศาสตร์มาก แต่กลับชื่นชอบในด้านวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ อีกทั้งการได้ไปทัศนศึกษาที่โคราช ได้พบเห็นการทำงานของนายแพทย์ที่ทุ่มเทตั้งใจ เกิดความประทับใจ จึงตั้งมั่นว่าจะเป็นหมอให้ได้ นำไปสู่การมุ่งมั่นตั้งใจเรียนจนได้รางวัลมากมายในช่วงสองปีสุดท้าย ในที่สุดก็สามารถสอบเอ็นทรานซ์เข้าไปศึกษาต่อในศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำเร็จ

นักเรียนแพทย์อาสาในสงครามโลกครั้งที่ 2

          การเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของคุณหมอนัดดานั้น อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์กำลังเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสงครามโลกครั้ง 2 พอดี คุณหมอนัดดาใช้เวลา 2 ปี จึงจบหลักสูตรแพทย์ขั้นต้นแล้วเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล หลังจากเข้าเรียนได้ปีเดียว ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาวะสงครามต่อเนื่องยาวนานถึงสามปี มีการทิ้งระเบิดตามจุดต่างๆในกรุงเทพ ห้องเรียนและห้องแลปที่ใช้โดนเครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายจนเสียหาย ทางมหาวิทยาลัยต้องงดการสอนเพื่อความปลอดภัย ส่วนโรงพยาบาลศิริราชก็ต้องเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่นนทบุรี

          เป็นเวลากว่าเก้าเดือนที่ไม่มีการเรียนการสอน แต่ในเวลานั้นกำลังเกิดโรคอหิวาห์ระบาดอย่างหนักในกรุงเทพ ส่งผลให้คุณหมอนัดดาและนักศึกษาแพทย์ร่วมรุ่นจำนวนมากได้มุ่งมั่นอาสาออกไปทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยในภาคสนาม เป็นเวลาหลายเดือนที่หมอนัดดาต้องเข้าไปทำงานในห้องผ่าตัดจริง รักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งก็เป็นการทำงานภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะขาดแคลนทั้ง ยา อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยมากพอ แต่ทั้งหมดนี้ก็มีส่วนหล่อหลอมให้คุณหมอนัดดาในการทุ่มเททำงานในภาคสนามหลังจากมหาวิทยาลัยกลับมาเปิดสอนอีกครั้งเมื่อสงครามจบลงแล้ว

ภัยคุกคามของวัณโรคในประเทศไทย

          วัณโรค เป็นปัญหาร้ายแรงเร่งด่วนของประเทศไทยมานาน โดยเฉพาะในระหว่างสงครามโลกเริ่มขึ้น มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะโรคนี้เป็นจำนวนมาก คุณหมอนัดดาจึงได้ทำการค้นคว้าและรวบรวมสถิติจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากวัณโรคในช่วงสงครามโลกและหลังสงครามแล้วพบว่า มีจำนวนสูงมาก

จากการค้นคว้า พบว่าผู้เสียชีวิตทั้งประเทศต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 คน จากประชากร 18 ล้านคน สำหรับในกรุงเทพ เฉลี่ยปีละ 1,500 คน จากประชากร 900,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1944-1948 ในเวลานั้นหากคิดจากจำนวนผู้เสียชีวิตโดยทั่วไปต่อปี ถือว่าผู้เสียชีวิตจากวัณโรคในประเทศไทยมีมากกว่า 50-60% เลยทีเดียว นอกจากนี้จากการออกสำรวจในภาคสนาม พบว่าผู้ป่วยจำนวนมากเป็นเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 6-15 ปี เป็นส่วนใหญ่

          แม้จากงานสำรวจของคุณหมอนัดดาจะพอมองเห็นว่า อัตราผู้เสียชีวิตจากวัณโรคเริ่มลดลงทุกปี แต่หากเทียบเป็นจำนวนและ % ก็ยังถือว่ามีสูงมาก ดังนั้นในทัศนะของหมอนัดดา จึงเห็นว่าควรให้จัดสร้างหน่วยงานเพื่อควบคุมและรักษาวัณโรคในประเทศไทยให้หมดไป แล้วยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ลุกลามขยายออกไปสู่ระดับภูมิภาคต่อไปได้

ใน พ.ศ. 2495 หน่วยงานเฉพาะโรคได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองอยู่ใต้กรมอนามัย กองควบคุมวัณโรคเป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่ทั้งประเทศไทย ยังมีโรงพยาบาลสำหรับวัณโรคที่เริ่มเปิดให้บริการในกรุงเทพเพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่างๆยังมีไม่เพียงพอตามมาตรฐานการรักษา จำนวนแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในด้านนี้ก็มีอยู่เพียงสิบกว่าคน ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยมีเกือบร้อยคน

ในช่วงกลางปี ด้วยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก W.H.O ภายใต้การร่วมมือกับรัฐบาลไทย ก็ได้มอบเงินทุนเพื่อไว้จัดหาอาคารสถานพยาบาลและเครื่องมือที่จำเป็น รวมถึงการฝึกหัดบุคลากรทางการแพทย์โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นจำนวนแพทย์ฝึกหัดและเจ้าหน้าที่พยาบาลก็ยังมีไม่เพียงพอกับผู้ป่วยอยู่ดี

ขอทุนศึกษาต่อที่อเมริกา ปณิธานเพื่อประเทศชาติ

คุณหมอนัดดาได้ทำงานกับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี ระหว่างนั้นก็พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเข้ามาที่สถานพยาบาลเป็นจำนวนมากขึ้นทุกวันๆ พร้อมด้วยลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป หมอนัดดาพบว่าตนไม่สามารถรับมือหรือหาทางรักษาผู้ป่วยทุกคนได้ทั้งหมด เพราะเห็นว่าตนยังไม่ได้ศึกษาด้านวัณโรคโดยเฉพาะทางมาก่อน ด้วยความที่แพทย์ชาวไทยในสมัยนั้นยังมีจำกัด จึงต้องรับรักษาโรคทั่วไปทั้งหมด ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในแต่ละโรค คุณหมอนัดดาเห็นว่า เพื่อที่จะทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติและมีส่วนยกระดับมาตรฐานวิชาแพทย์สมัยใหม่ให้ยิ่งขึ้นไป จึงได้ขอทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยมุ่งที่การรักษาวัณโรคเป็นการเฉพาะ

ปณิธานและแผนระยะยาวของคุณหมอนัดดาหลังจบการศึกษาที่อเมริกา คือ การได้กลับเข้ามาทำงานต่อสู้กับวัณโรคที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แล้วปฏิบัติการตรวจรักษาผู้ป่วยวัณโรคแบบเคลื่อนที่ หรือออกไปทำการรักษาในพื้นที่ห่างไกลในชนบท เพื่อให้เป็นจุดเริ่มสำหรับบุกเบิกการรักษาวัณโรคในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ สงขลา อุดรธานี ฯลฯ ซึ่งกำลังประสบปัญหาจากโรคนี้ แล้วยังเป็นการตระเตรียมสำหรับแผนงานของรัฐบาลในการควบคุมโรคในอนาคตด้วย 

 

 

ตัวอย่างเอกสารต้นฉบับจดหมายเหตุ

 

 

 

ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเอกสารจดหมายเหตุ มาสอบทุนฟุลไบรทของนายแพทย์นัดดา ศรียาภัย หรือขอข้อมูลได้ที่ หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 อาคารคลังพัสดุ (88/37) กระทรวงสาธารณสุข ซอยสาธารณสุข 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 092 858 9665 หรือติดต่อสอบถามที่ส่วนงานบริหาร สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ โทร. 0 2590 1352