โครงการ

โครงการ 100 ปี การสาธารณสุขไทย (2461-2561)

 

 โครงการหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

 

 

 . หลักการและเหตุผล 

ในวาระของครบรอบ ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย ที่จะมาถึงในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นับเป็นโอกาสดีในการผลักดันให้เกิดความตระหนักในมิติทางประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพไทย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพจึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บเอกสารที่มีคุณค่าอันเป็นแหล่งความรู้และสำนึกทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย และเป็นแหล่งที่ให้การสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย เพื่อสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์และมิติทางสังคมของระบบสุขภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข ตลอดจนเผยแพร่ให้ความรู้ เพื่อให้สังคมการแพทย์การสาธารณสุข สถาบันการศึกษาและการวิจัย ตลอดจนสาธารณชนได้ศึกษาเรียนรู้และเกิดความเข้าใจในรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพไทย 

. วัตถุประสงค์

๑) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและทำนุบำรุงรักษา เอกสาร สื่อ ตลอดจนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการของระบบสุขภาพไทยมิให้เสื่อมสลายหรือสูญหายไป

๒)  เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการในการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบสุขภาพไทย ตลอดจนพัฒนาการด้านสังคมและการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลูกฝังและสร้างความรู้ ความเข้าใจในมิติทางสังคม ประวัติศาสตร์และสุขภาพ 

๓) เพื่อดำเนินการวิจัยและสนับสนุนการศึกษาค้นคว้า เพื่อการเรียนรู้จากอดีต ตลอดจนเพื่อสร้างความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ความเข้าใจในมิติทางสังคมของสุขภาพและการแพทย์

๔) เพื่อสร้างสรรค์และปลูกฝังสำนึกและความภาคภูมิใจต่อความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ อันจะเป็นการบ่มเพาะความรักและความภูมิใจในการทำงานเพื่อสร้างระบบสุขภาพไทยให้เข้มแข็ง

๓.  แผนการดำเนินงาน

       ระยะแรก (๓ ปี) เริ่มดำเนินการ ปีงบประมาณ ๒๕๕๙-๒๕๖๑ ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุงออกแบบอาคารคลังพัสดุ  ให้ดำเนินงานในส่วนที่สามารถทำได้ล่วงหน้าได้ โดยมีแผนการดำเนินงานโดยรวม ดังนี้
      ๑)  จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิขึ้น ๑  ชุด เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานกับบุคคลในวงการสุขภาพเจ้าของเอกสารสำคัญๆ และชี้แนะแหล่งเอกสารสำคัญที่ต้องเก็บรวบรวม

๒)  รวบรวม เอกสาร รูปภาพ วัสดุ และสื่อสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นมาในประวัติศาสตร์ ระบบสุขภาพไทย

๓)  คัดเลือก จัดระบบเอกสาร รูปภาพต่างๆ ที่ง่ายต่อการค้นคว้า

๔)  จัดการสัมมนาผู้รู้เห็น (Witness seminar) ทางประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพไทยเพื่อนำข้อมูลและสื่อที่ได้มาจัดเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุและใช้ประโยชน์ต่อไป

๕)  จัดพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิชาการที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบสุขภาพไทย

๖)  จัดเตรียมพิพิธภัณฑ์ที่แสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพไทย

๗) จัดเตรียมหอจดหมายเหตุทั้งที่เป็นงานจดหมายเหตุหลัก และจดหมายเหตุเอกสารของบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการระบบสุขภาพไทย โดยจัดระบบเอกสารรวมสามหมวดได้แก่
            · เอกสารสำคัญและมีคุณค่าในด้านการพัฒนาระบบสุขภาพไทย
            · เอกสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องและมีคุณูปการต่อระบบสุขภาพไทย

            · เอกสารและสื่อทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพ

๘)  เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการใช้ประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป

๙)  มีเว็บไซต์เพื่อการบริการและประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าถึงได้ทางอินเตอร์เน็ต

๑๐) ดำเนินการออกแบบ ตกแต่ง จัดภูมิสถาปัตย์ให้เหมาะกับการใช้งาน และจัดแบ่งเนื้อที่ใช้สอยห้องเก็บเอกสาร ห้องรวบรวมและคัดแยก ห้องบริการค้นคว้า และห้องทำงานของบุคลากร การจัดแสดงนิทรรศการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์

๑๑) ดำเนินการขนย้ายเอกสาร วัตถุและสิ่งของต่างๆ ที่เก็บรวบรวมไว้ ไปเริ่มการจัดเก็บ จัดแสดงและสร้างระบบการให้บริการค้นคว้าเอกสารในห้องแสดงถาวร

๑๒) การจัดสร้างชุดนิทรรศการถาวรในหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ รวมทั้งจัดสร้างนิทรรศการแบบเคลื่อนที่ในประเด็นสำคัญสำหรับจัดแสดงในวาระสำคัญต่างๆ

๑๓) จัดระบบการเข้าใช้บริการค้นคว้าเอกสารและการเข้าชมนิทรรศการที่จัดแสดง รวมทั้งเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อให้สาธารณชนได้รู้จักและเข้ามาเรียนรู้อย่างกว้างขวาง

๔. ผู้รับผิดชอบโครงการ

 สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ  สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
         สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 ๕. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑)  ทำให้เกิดสำนึกและบรรยากาศของการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และการสาธารณสุขไทย

๒)  ทำให้มีแหล่งรวบรวมข้อมูลเพื่อการค้นคว้า แสวงหาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และการเรียนรู้จากอดีตอันจะก่อประโยชน์ต่อสุขภาพ การแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยที่ยั่งยืน

๓)  ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้า และพัฒนาองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และการสาธารณสุขไทย

๔)  ทำให้ได้หลักฐานเพิ่มจากเอกสารโดยเป็นแหล่งเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่าของบุคคลผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และการสาธารณสุขไทยเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยในอนาคต

๕)  ทำให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการจัดสัมมนาผู้รู้เห็นทางประวัติศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ในสังคมไทยได้