โครงการ

โครงการจัดแสดงนิทรรศการ ๑๐๐ บุคคล ร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ ร้อยเรื่องราว ที่หอประวัติศาสตร์สุขภาพ

 

โครงการจัดแสดงนิทรรศการ  
หัวข้อ “๑๐๐ บุคคล ร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ ร้อยเรื่องราว”
ณ หอประวัติศาสตร์สุขภาพ  ชั้น ๑ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 
๑. คณะดำเนินงานโครงการ
     ผู้จัดการโครงการ               นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์      ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ
     ผู้รับผิดชอบโครงการ          น.ส.ปารณัฐ สุขสุทธิ์                นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ   
หน่วยงานดำเนินการ          หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย    สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ                          
หน่วยงานสนับสนุน           สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
 
๒. หลักการและเหตุผล
หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย มีแผนงานการจัดทำนิทรรศการประวัติศาสตร์สุขภาพไทยชุดแรก ภายใต้หัวข้อการนำเสนอหลักคือ “หนึ่งร้อยบุคคล ร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ และร้อยเรื่องราว” มุ่งเน้นเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และความทรงจำที่มีความหลากหลายมุมมอง ประกอบด้วยองค์ความรู้ประวัติศาสตร์สุขภาพมากกว่าหนึ่งชุด โดยวิธีการศึกษารวบรวมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นของบุคคลสำคัญ องค์กร/สถาบันสังคม และชุมชน ที่สะท้อนจุดเปลี่ยนของระบบสุขภาพในแต่ละช่วงเวลา ที่อาจมาจากการมีส่วนร่วมสร้างความหมายสุขภาพของมนุษย์ทุกกลุ่มอาชีพและวัฒนธรรม จากเหตุการณ์อุบัติภัย จากการริเริ่มบุกเบิก หรือจากการค้นพบ จนถึงการสิ้นสุดของเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและชีวิต
แนวคิดการออกแบบและดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการ มีจุดมุ่งหมายในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์สุขภาพที่สื่อแสดงความหมายสุขภาพอย่างครอบคลุมวิถีชีวิต มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและท้องถิ่น สะท้อนการเปลี่ยนแปลง มองเห็นจุดเปลี่ยนและการปะทะของแนวความคิดในระบบสุขภาพด้วยกันเอง รวมถึงความไม่ต่อเนื่องของแนวนโยบายกับปฏิบัติการระดับต่าง ๆ ขณะเดียวกันที่วิถีทางการปฏิบัติของกลุ่มชุมชน/องค์กร/ประชาชนทุกอาชีพและกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคม ในการใช้ภูมิปัญญาการเรียนรู้ปรับตัวแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยไปตามภูมินิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของมิติสุขภาพกับสังคมที่เชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ เพื่อเป็นการกระตุ้นแรงบันดาลใจการเรียนรู้และค้นคว้าต่อไป
สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นหน่วยงานดำเนินการและบริหารจัดการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนร่วมก่อตั้งหลักกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  รวมถึงคณะกรรมการอำนวยการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย จึงริเริ่มนำเสนอแนวคิดและโครงการจัดแสดงนิทรรศการนี้   ให้เป็นแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์สุขภาพของไทยต่อไป
 
๓. แนวความคิด
นิทรรศการประวัติศาสตร์สุขภาพไทย มีที่มาจากทีมงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสุขภาพของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ทบทวนวิเคราะห์เหตุการณ์สุขภาพที่มีความสำคัญ ควบคู่ไปกับวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาด้านการแพทย์การสาธารณสุขต่างๆ ให้ครอบคลุมความหมายของสุขภาพและระบบสุขภาพ ซึ่งเปลี่ยนผ่านยุคสมัยและกาลเวลาทางสังคม นอกจากนั้นยังมีการสืบค้น ตรวจสอบข้อมูลและการอ้างอิงต่างๆ อย่างถูกต้องตามหลักการ ขณะเดียวกันได้มีการนำวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ มาใช้ อาทิ เรื่องเล่า ความทรงจำและการสัมมนาผู้รู้เห็นประวัติศาสตร์ (Witness seminar) เป็นวิธีการเปลี่ยนองค์ประธานของประวัติศาสตร์ มีผลให้การสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีความเป็นไปได้มากขึ้น และทำให้ประวัติศาสตร์มีความร่วมสมัยกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนต่างๆ รวมไปถึงคนเล็กๆ ที่ไม่สามารถปรากฏบทบาทได้ในวาระโอกาสที่เป็นทางการ ความสำคัญของการออกแบบจึงอยู่ที่แนวความคิดเบื้องต้นนี้
แนวคิดหลักในการออกแบบนิทรรศการให้สอดคล้องกับวาระทางสังคมและสร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต คือ
o   Cultural Ecological Approach 
o   Ethnological and Historical Museum
o   วิธีการทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และคำบอกเล่า
o   ไม่ต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ ดูไม่หมด มาดูได้อีก และได้ข้อคิดบางอย่างกลับไป
o   ระดมและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในหลายขั้นตอน
o   ผลิตสื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมสมัยและสร้างแรงบันดาลใจ
o   สร้างงานออกแบบให้สาระของประวัติศาสตร์แทรกในองค์กรที่มีชีวิต เกิดความภาคภูมิใจ
 
๔. วัตถุประสงค์
            ๑) เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบสุขภาพไทยตลอดจนพัฒนาการด้านสังคมการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลูกฝังและสร้างความรู้ ความเข้าใจในมิติทางสังคม ประวัติศาสตร์และสุขภาพ
            ๒) เพื่อสร้างสรรค์ปลูกฝังสำนึก และความภาคภูมิใจต่อความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ อันจะเป็นการบ่มเพาะความรักและภูมิใจในการทำงานสร้างระบบสุขภาพไทยให้เข้มแข็ง
 
๕. ขอบเขตของงาน
       -    ศึกษาค้นคว้าเนื้อหาวิชาการและสังเคราะห์ประเด็นสำคัญหัวข้อหลักและรองที่ต้องการสื่อสารสู่ผู้ชมแต่ละกลุ่มในแต่ละช่วงเวลาทางสังคม ที่เป็นมิติเวลาของประวัติศาสตร์และความทรงจำ
       -    กลุ่มร่วมเรียนรู้การพัฒนาแนวความคิดและเนื้อหาความรู้ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการนำเสนอสู่เทคนิควิธีและศิลปะการจัดแสดง
       -   จัดทำคลังข้อมูลและคลังวัสดุอุปกรณ์สำหรับการออกแบบและจัดสร้างนิทรรศการ ให้เกิดการเลือกใช้วัสดุ สื่อและเทคนิคการนำเสนอที่เหมาะสมคือ ประหยัด เก็บรักษาง่าย ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมและสร้างสภาพแวดล้อมทางการจัดแสดงได้ดี
       -    ประสานงานการพัฒนาแบบแปลน เชิงเนื้อหาและเทคนิค ด้านการก่อสร้างพื้นที่ จัดวางระบบไฟฟ้า การปรับอุณหภูมิและพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ให้ใช้สอยอย่างคุ้มค่า ปรับเปลี่ยนไดง่าย
       -    พัฒนาระบบสนับสนุนและซ่อมบำรุงนิทรรศการ
       -    ประสานงานกับทีมงานออกแบบและสร้างนิทรรศการตามแผนงาน
 
๖. กลุ่มเป้าหมาย
       ๑)      หน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข : บุคลากรสุขภาพทุกสาขา
       ๒)      สถาบันการศึกษาด้านสุขภาพ สังคมและด้านประวัติศาสตร์ :นักวิชาการและนักศึกษา
       ๓)      กลุ่ม /เครือข่าย/องค์กรด้านสุขภาพ/เครือข่ายสุขภาพภาคประชาสังคม
       ๔)      ประชาชนผู้สนใจ
 
๗.  การรวบรวมสาระความรู้และหมวดหมู่เนื้อหาการจัดแสดง
          กระบวนการพัฒนาเนื้อหาและวางกรอบการรวบรวมเนื้อหาดำเนินไปตามหัวข้อหลัก คือ
          หมวด ก บุคคลผู้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สุขภาพ หมายถึง บุคคลที่ชีวิตของเขาสามารถบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์สุขภาพไทย   ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำทางการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ อาจเป็นหมอพื้นบ้าน ผู้ป่วยอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. บุคลากรทางการแพทย์ ผู้นำชุมชน หรือบุคคลที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพ
          หมวด ข แนวคิดสุขภาพ หมายถึงแนวความคิดทั้งที่เกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพ แนวคิดเรื่องโรคและความเจ็บป่วย แนวคิดพื้นบ้านเกี่ยวกับสุขภาพและการเยียวยา ตลอดจนความคิดที่สร้างผลกระทบต่อพัฒนาการระบบสุขภาพทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น
          หมวด ค สิ่งประดิษฐ์และอุปกรณ์การดูแลและรักษาสุขภาพ หมายถึง สิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นหรือข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความเจ็บป่วยหรือสะท้อนภูมิปัญญาสุขภาพที่น่าสนใจ ทั้งในระบบสุขภาพท้องถิ่น ในครอบครัว หรือโดยองค์กร/เครือข่ายสุขภาพต่างๆ
          หมวด ง เรื่องราวหรือเหตุการณ์ หมายถึง เหตุการณ์สำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวสุขภาพและความเจ็บป่วย ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือเรื่องบอกเล่าที่อาจไม่เป็นความจริง    แต่มีผลกระทบต่อวิธีคิดหรือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพ
 
๘. สถานที่และแนวทางการจัดแสดง
          การจัดแสดงนิทรรศการที่ห้องจัดแสดงชื่อ หอประวัติศาสตร์สุขภาพ ตั้งอยู่ที่ชั้น ๑ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ซอยสาธารณสุข ๖ ภายในกระทรวงสาธารณสุข ติดกับ ห้องสมุด ๑๐๐ ปี เสม พริ้งพวงแก้ว มีพื้นที่ราว ๓๙๖ ตร.ม. 
          การจัดแสดงประกอบด้วยส่วนนิทรรศการถาวรและนิทรรศการกึ่งถาวรหรือหมุนเวียน คือ
                           นิทรรศการถาวรจะเน้นการนำเสนอ เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพที่เปลี่ยนผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ทางสังคมและการเมือง จัดแสดงข้าวของอุปกรณ์และเครื่องมือเกี่ยวกับการแลรักษาความเจ็บป่วยและสุขภาพ มีเรื่องราวของบุคคลทั้งที่สำคัญและไม่เป็นที่รู้จัก แต่กลับมีความหมายต่อการเรียนรู้ และมีเรื่องราวที่สะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านชีวิตผู้คนกลุ่มอาชีพ และกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ   มีแกลลอรี่จดหมายเหตุบุคคลที่มีความหมายต่อระบบสุขภาพในแง่มุมต่าง ๆมาสื่อผ่านภาพ งานกราฟฟิค สื่อ visual ต่าง ๆ รวมถึงตัวอักษร ให้ผู้ชมรับรู้ ซึมซับ สัมผัสและสร้างจินตนาการไปกับเรื่องราวด้านสุขภาพที่เคยเกิดขึ้นมา แล้วเราอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลย
                    นิทรรศการแบบกึ่งถาวรและหมุนเวียน มาจากแนวคิด Decorating by Social Agenda (and popular trend) โดยการทำงานศึกษาค้นคว้า โดยทีมงานด้านเนื้อหาความรู้และสังเคราะห์ประเด็นหลักการนำเสนอในการจัดแสดงส่วนกึ่งถาวรและหมุนเวียน ปีละ ๒-๓ เรื่อง และใช้ Audio Visual   เสนอภาพและเสียงของเรื่องราวในนิทรรศการ
  การออกแบบจึงมีการเตรียมการด้านการจัดแสดง (Display) ตามลักษณะ space ของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้เคลื่อนย้ายง่าย มีความพร้อมการติดตั้งในโซน/ตำแหน่ง/บริเวณที่จัดแสดง ซึ่งจะเรียงร้อยนำเสนอตามหัวข้อหลัก แล้วเสริมส่วนนำเสนอวางตามพื้นที่/มุมใช้สอยต่าง ๆ เป็นพื้นที่พักผ่อน ห้องประชุม ทางเดิน เป็นต้น
             นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการแล้วยังมีการคิดค้นกิจกรรมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพและเหตุการณ์สุขภาพที่มีความหมายทางสังคม มีความสัมพันธ์กับทิศทางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อให้หอประวัติศาสตร์สุขภาพเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย เป็นพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะที่มีชีวิต โดยการนำเนื้อหาสาระมาคิดออกแบบ นำเสนอจัดแสดงให้เข้าถึงจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม อีกทั้งยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างความรู้ เรื่องราวด้านสุขภาพที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สังคม ที่ส่งผลต่อการทำงานและดำเนินชีวิตประจำวันจนถึงปัจจุบัน
             หลักการออกแบบเน้นความเรียบง่าย ใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เอนกประสงค์ ประหยัด รักษาสิ่งแวดล้อมและเหมาะสมกับการใช้งาน ฉะนั้น กระบวนการทำงานจึงมาจากการศึกษาค้นคว้าอย่างเข้มข้น นำมาสังเคราะห์แปรความรู้ คิดสื่อสัญลักษณ์ การแปรเนื้อหาสาระเป็นสื่อวัสดุและรูปแบบการถ่ายทอดเนื้อหาสู่ผู้ชม มุ่งสร้างบทสนทนาตรงประเด็น ส่งสารที่ทรงพลังกระทบจิตสำนึกลึก ๆ คือ เกิดสาระ ได้ความสุขเพลิดเพลิน และชวนค้นหาคำตอบใหม่ ๆ พร้อมกันนั้นการจัดทำและออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับ หนังสือ โปสเตอร์และสคริปต์ข่าว ก็มีความสำคัญต่อการสร้างแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สุขภาพในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขแห่งนี้
             นอกจากการออกแบบนิทรรศการที่จะดำเนินการในสถานที่จัดแสดงหลักคือหอประวัติศาสตร์สุขภาพแล้ว ในระยะต่อไปยังได้นำเสนอแนวคิดให้กับองค์กรอื่น ๆในอาคารอีก คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) ในการออกแบบนิทรรศการเรียนรู้ประวัติสาสตร์องค์กร โดยนำเสนอให้เห็นพื้นที่ที่จะจัดแสดงได้ของแต่ชั้น มี ๕ ชั้นๆ ละ ๕ จุด รวม ๒๕ จุด และพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน อีก ๖ จุด อาทิ ผนังด้านข้างบันไดวนของอาคาร ๒-๓ ชั้น (ทั้งหมดมี ๖ ชั้น) ห้องประชุมหรือห้องผู้บริหาร เป็นต้น
         
๙. การเตรียมการงานออกแบบและเลือกเฟ้นเนื้อหา
          แนวทางเตรียมการจัดทำชุดนิทรรศการประวัติศาสตร์สุขภาพ มีการวางแผนเตรียมความพร้อมมาตามลำดับ สร้างความพร้อมของแนวความคิดและขั้นตอนการทำงาน โดยการทำงานด้านวางโครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบ สถานที่ สิ่งแวดล้อมกายภาพ อุปกรณ์ เอกสาร ตลอดจนถึงบุคลากรของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ตั้งอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร จนวางระบบงานจดหมายเหตุได้ ปัจจุบันจึงมีคลังข้อมูลเอกสารสำหรับการสืบค้นได้ระดับหนึ่ง การเตรียมความพร้อมด้านเนื้อหาประวัติศาสตร์สุขภาพเป็นภารกิจสำคัญที่สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพให้ความสำคัญ   จึงมีการทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์สุขภาพหลายสถาบันมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงวาระเตรียมความพร้อมเพื่อจัดทำนิทรรศการชุดแรกนี้ ทีมงานได้เตรียมการทำงานด้านต่างๆ ไว้ดังนี้
          ขั้นตอนการออกแบบและจัดแสดงในปี ๒๕๕๔ เป็นครั้งแรก
๑) ด้านสถานที่
                      ประสานและศึกษาการวางแบบแปลน พื้น ฝาผนัง เพดานในห้องจัดแสดง
                      ประสานการวางระบบไฟฟ้าและพื้นผนังให้เป็นไปได้ตามหลักการออกแบบ
                      ติดตามงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายในอาคาร และเตรียมการออกแบบ
                      ตกแต่งภายในและการจัดพื้นที่ห้อง
๒) ด้านเนื้อหาการจัดแสดง
                      มีคณะทำงานวิชาการพัฒนากรอบเนื้อหาและหัวข้อการจัดแสดงตามวาระงาน
                      ทบทวนวรรณกรรมประวัติศาสตร์สุขภาพ
                      จัดทำแบบสำรวจแหล่งข้อมูลข่าวสาร
                      จัดส่งแบบสำรวจไปยังกลุ่มและหน่วยงานตามเป้าหมาย
                      ประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์
                      คัดเลือกเนื้อหาจากเอกสารและวัตถุจดหมายเหตุที่ได้มา
                      สำรวจค้นหาและค้นคว้าเพิ่มเติม
                      ประชุมสรุปกรอบเนื้อหาการจัดแสดงและเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการ
                      ติดตามและประเมินผล
3)      ด้านการประสานความร่วมมือกับเครือข่าย
                      ๓.๑ จัดตั้งคณะทำงานวิชาการประวัติศาสตร์และจัดแสดงนิทรรศการ
                      ๓.๒ สำรวจจัดทำฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
                      ๓.๓ ทำจดหมายทางการถึงผู้บริหารหน่วยงาน/และบุคคลเป้าหมาย
                      ๓.๔ แสวงหาความร่วมมือและจัดทำข้อตกลงกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ
                      ๓.๕ ประชุมเสนอและรับฟังข้อคิดความเห็นจากคณะกรรมการอำนวยการฯ
                      ๓.๖ ด้านการแสวงหาความร่วมมือและจัดหาข้าวของ-วัสดุอุปกรณ์
-       สำรวจเยี่ยมชมและดูงานฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และทำบันทึกรายการวัตถุที่น่าสนใจสำหรับขอยืมมาร่วมจัดแสดง
-       สอบถามจากบุคคลสำคัญและหน่วยงานเป้าหมาย ที่เป็นจุดรวมและจุดเปลี่ยนเหตุการณ์สำคัญๆ
-       สืบค้นจากตำราและบุคคลเพิ่มเติมเป็นระยะ
-       ประชุมเชิงปฏิบัติการและระดมความคิดของคณะทำงานด้านเนื้อหาและการออกแบบ
-       คัดเลือกอุปกรณ์เครื่องมือที่มีความหมายรับใช้ประเด็นการนำเสนอ
๔) ด้านการออกแบบและจัดแสดงนิทรรศการ
-      จัดหาข้าวของด้วยการยืม, จัดซื้อและขอรับบริจาค
-       รวบรวม จัดหมวดหมู่และรักษา
-       ประชุมทำความเข้าใจร่วมกับกลุ่ม/องค์กรที่เกี่ยวข้องสำหรับหัวข้อนิทรรศการหมุนเวียนแต่ละชุด   เพื่อกำหนดเนื้อหาและวางประเด็น
-       วางกรอบแนวคิดและกรอบงานร่วมกับทีมงานออกแบบ (Design & Decorating)
-       ดำเนินการออกแบบและปรับปรุง
-       ควบคุม ดูแลและกำกับ
-       ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไข
๕)     ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ
๕.๑ สื่อ-ประชาสัมพันธ์เพื่อรวบรวมวัตถุและเรื่องราว
-       ออกแบบและจัดทำเนื้อหาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์หอจดหมายเหตุฯ
-       ประชาสัมพันธ์ค้นหาเรื่องราวและบุคคลผ่านสื่อและเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงส่าธารณสุข อาทิ สช., กอง สช.และนอกกระทรวงสาธารณสุข อาทิ สถาบัน การศึกษา องค์กรสุขภาพต่างๆ ฯลฯ
-       ทำหนังสือราชการ/จดหมายถึงหน่วยงานผู้บริหารและบุคล เป้าหมาย
-       ประเมินผล
๕.๒ การสื่อสารสาธารณะสร้างความรับรู้
-       ออกแบบเนื้อหาและสร้างสื่อประชาสัมพันธ์สู่สังคม
-       ประเมินผลจากกลุ่มเป้าหมาย / สำรวจ